4 ก.ย. – ตำรวจเร่งขยายผลส่วยรถบรรทุก ลั่นสาวให้ถึงตัวการใหญ่ในกรมทางหลวง ส่วนนายช่างที่ถูกจับได้ประกันตัวแล้ว ด้านสหพันธ์การขนส่งทางบกฯ แฉยังมีป้ายสติกเกอร์ผู้มีอิทธิพลอีกราว 20 ป้าย ไม่โดนตรวจสอบ
ความคืบหน้ากรณีตำรวจสอบสวนกลาง ร่วมกับ ปปป. และ ป.ป.ช. เปิดปฏิบัติการทลายเครือข่ายเจ้าหน้าที่รัฐเรียกรับ “ส่วยรถบรรทุก” นำหมายศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ภาค 3 บุกจับนายนพดล หัวหน้าสถานีตรวจสอบน้ำหนักอุบลราชธานี ขาออก กรมทางหลวง และยังเป็นหัวหน้าชุดเฉพาะกิจ Spot check ซึ่งมีหน้าที่สืบสวนจับกุมรถบรรทุกน้ำหนักเกินที่วิ่งบนทางหลวง นายเอนก หัวหน้าสถานีตรวจสอบน้ำหนักด่านขุนทดขาเข้านครราชสีมา และนายธงชัย พลเรือนซึ่งทำหน้าที่เป็นหน้าเสื่อ เรียกเก็บส่วยทั้งหมด
ในข้อหาเป็นเจ้าพนักงานร่วมละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต เป็นเจ้าพนักงานของรัฐร่วมกันปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ และสนับสนุนเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ พร้อมเข้าตรวจค้นพื้นที่เป้าหมายจำนวน 11 จุดทั่วประเทศ ในพื้นที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ชัยภูมิ เพชรบูรณ์ นครปฐม ชลบุรี เชียงใหม่ และกรุงเทพมหานคร
วันนี้ (4 ก.ย.) พล.ต.ต.จรูญเกียรติ ปานแก้ว รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เปิดเผยว่า จากการตรวจสอบเส้นทางการเงินเชื่อมโยงกับบัญชีม้าและผู้ประกอบการรถบรรทุก พบมีการโอนเงินจากผู้ประการรถบรรทุกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือเข้าบัญชีม้า และเชื่อมโยงไปถึงนายนพดล เดือนละไม่ต่ำกว่า 5 ล้านบาท ตรวจสอบย้อนหลัง 4 ปี พบเงินหมุนเวียนประมาณ 200 ล้านบาท ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการขยายผลว่ายังมีผู้ร่วมขบวนการ หรือมีตำแหน่งที่สูงกว่านายนพดลหรือไม่ เมื่อมูลค่าความเสียหายจำนวนมาก แนวทางการสืบสวนจะต้องให้เจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ร่วมขยายผล โดยเฉพาะกลุ่มคนที่มีตำแหน่งระดับสูงของกรมทางหลวง ต้องแกะรอยจากเส้นทางการเงินว่าเชื่อมโยงถึงบุคคลใด และใครอยู่เบื้องหลังของขบวนการเก็บส่วยรถบรรทุกหรือไม่
3 ผู้ต้องหาได้รับการประกันตัว-ห้ามออกประเทศ
ส่วนผู้ต้องหาทั้ง 3 คนที่ถูกควบคุมตัวตั้งแต่เมื่อวานนี้ (3 ก.ย.) ได้รับการประกันตัวในชั้นสอบสวน โดยตีราคาประกันคนละ 300,000 บาท พร้อมเงื่อนไขห้ามออกนอกประเทศ และให้มาตามนัดของเจ้าหน้าที่ทุกครั้ง
สหพันธ์ขนส่งฯ ย้ำจุดยืนต้านระบบจ่ายส่วยทุกรูปแบบ
นายทองอยู่ คงขันธ์ ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย เปิดเผยว่า การจับกุมครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกันระหว่างสหพันธ์การขนส่งทางบกแห่งประเทศไทย กับหน่วยงานภาครัฐ เพื่อร่วมกันแก้ปัญหาส่วยอย่างเป็นระบบ ซึ่งสหพันธ์ฯ ขอต่อต้านระบบส่วยทุกรูปแบบให้หมดไป แต่ต้องยอมรับว่าระบบส่วยยังมีอยู่และทำมานานแล้ว เป็นทฤษฎีสมประโยชน์ ทั้งผู้ให้-ผู้รับ ได้รับประโยชน์ทั้งคู่ ดังนั้น จึงปราบปรามยาก แต่ก็ต้องทำ ที่ผ่านมามีการรณรงค์ไม่ให้มีการบรรทุกน้ำหนักเกิน เช่น รถปิกอัพต้องบรรทุกไม่เกิน 2.2 ตัน รถ 4 ล้อ ต้องบรรทุกไม่เกิน 5.5 ตัน รถ 6 ล้อ ต้องบรรทุกไม่เกิน 15 ตัน รถ 10 ล้อ ต้องบรรทุกไม่เกิน 25 ตัน รถพ่วง 18 ล้อ ต้องบรรทุกไม่เกิน 50 ตัน บวก 500 กิโลกรัม เป็นต้น
แฉยังมีสติกเกอร์ผู้มีอิทธิพลอีก 20 ป้าย จ่ายส่วย
ประธานสหพันธ์การขนส่งทางบกฯ ระบุด้วยว่า แม้ทางการจะเข้มงวดแต่ขณะนี้ยังมีป้ายสติกเกอร์ของผู้มีอิทธิพลกระจายอยู่ทั่วประเทศประมาณ 20 ป้าย ซึ่งเจ้าของป้ายสติกเกอร์เหล่านี้จะจ่ายส่วยให้หน่วยงานภาครัฐ ส่วนตัวมองว่าการแก้ปัญหาส่วยจะต้องเริ่มแก้ที่ผู้รับเหมารายใหญ่ของรัฐก่อน เพราะการบรรทุกน้ำหนักเกิน ถนนหนทางก็จะพัง ต้องใช้งบประมาณภาษีของชาติซ่อมแซมปีละหลายหมื่นล้าน รวมทั้งจะทำให้เกิดอุบัติเหตุตามมาอีกด้วย.-สำนักข่าวไทย