รัฐสภา 19 ส.ค. –วุฒิสภา รับทราบรายงานสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ สว.เสนอแนะให้บูรณาการทำงานของหน่วยงานทุกเหล่าทัพ เพื่อลดความซ้ำซ้อนและประหยัดงบประมาณ
การประชุมวุฒิสภา วันนี้ (19 ส.ค.67) นายมงคล สุระสัจจะ ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่ประธานการประชุม ได้รับทราบรายงานประจำปี 2565 ของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ โดย พลเอก ชรัติ อุ่มสัมฤทธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ชี้แจงรายงานว่า สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ (สทป.) เป็นองค์การมหาชนแห่งแรกของกระทรวงกลาโหม ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม จัดตั้งองค์กรในรูปแบบองค์การมหาชน มีหน้าที่หลักในการศึกษาค้นคว้า วิจัย และพัฒนาเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ประสานความร่วมมือด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศกับหน่วยงานทั้งภายในและภายนอกประเทศ ส่งเสริมการฝึกอบรม วิจัย และเป็นศูนย์กลางการให้บริการข้อมูลสารสนเทศด้านเทคโนโลยีป้องกันประเทศ ที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 2 ด้าน คือ ยุทธศาสตร์ชาติด้านความมั่นคง และยุทธศาสตร์ชาติด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน ทั้งนี้ มุ่งเน้นพัฒนาศักยภาพของประเทศให้พร้อมเผชิญภัยคุกคามที่กระทบต่อความมั่นคงของชาติ การวิจัยและพัฒนาอาวุธยุทโธปกรณ์ด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อยกระดับอุตสาหกรรมป้องกันประเทศสู่สากล ซึ่งผลการดำเนินงานในปี 2565 ได้ประยุกต์ใช้องค์ความรู้เทคโนโลยีป้องกันประเทศสู่ประชาสังคม เช่น การส่งมอบหุ่นยนต์เก็บกู้วัตถุระเบิด 2 รุ่น ให้กับกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภาค 4 ส่วนหน้า เพื่อนำไปทดลองใช้งาน และการซ่อมคืนสภาพยานสำรวจใต้น้ำให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)
ขณะที่ สมาชิกวุฒิสภา ได้อภิปรายเสนอแนะให้สถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศหาแนวทางบูรณาการการทำงานของทุกเหล่าทัพเข้าด้วยกัน เพื่อลดความซ้ำซ้อนการทำงาน และประหยัดงบประมาณของประเทศ พร้อมสนับสนุนภารกิจการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำฝนหลวงบรรเทาความเดือดร้อนประชาชนจากภัยแล้ง
จากนั้นที่ประชุมได้รับทราบรายงานของผู้สอบบัญชีและรายงานการเงินกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน สำหรับปีสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน 2565 โดยนายสุทธิพงษ์ โกศลวิริยะกิจ รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ชี้แจงว่า รายงานฉบับนี้ ว่า ผ่านการตรวจรับรองจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน ตามมาตรฐานการบัญชีภาครัฐและนโยบายการบัญชีภาครัฐที่กระทรวงการคลังกำหนด โดยกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน มีภารกิจเกี่ยวกับเรื่องการส่งเสริมพัฒนาฝีมือแรงงานและศักยภาพของกำลังแรงงาน ตลอดจนผู้ประกอบกิจการ เพื่อให้กำลังแรงงานฝีมือได้มาตรฐานในระดับสากลสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงาน แบ่งเป็น 4 ด้าน คือ ด้านการพัฒนาฝีมือแรงงานให้กับกำลังแรงงาน ด้านการกำหนดมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ ด้านการรับรองความรู้ความสามารถ และกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่จัดตั้งขึ้นตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน พ.ศ. 2545 เพื่อเป็นทุนหมุนเวียนสำหรับใช้จ่ายเกี่ยวกับการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยกองทุนฯ มาจากทรัพย์สินและหนี้สินที่โอนมาจากกองทุนพัฒนาฝีมือแรงงาน ที่จัดตั้งตามมติคณะรัฐมนตรีจากเงินอุดหนุนที่รัฐบาลจัดสรรให้ เงินสมทบที่ผู้ประกอบกิจการส่งเข้ากองทุนฯ ค่าธรรมเนียมและค่าทดสอบที่จัดเก็บได้ตามพระราชบัญญัติเงินหรือทรัพย์สินที่มีผู้บริจาคให้กองทุน ดอกผลหรือผลประโยชน์ที่ได้จากกองทุนฯ และเงินหรือทรัพย์สินที่ตกเป็นของกองทุนฯ สำหรับค่าใช้จ่ายของกองทุนฯ ให้ผู้รับการฝึกอบรมฝีมือแรงงานสามารถกู้ยืมเพื่อนำไปใช้จ่ายในการเข้ารับการฝึกอบรมฯ หรือผู้ดำเนินการทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงงาน ตลอดจนผู้ประกอบกิจการกู้ยืมเงินเพื่อใช้จ่ายในการฝึกอบรมหรือทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน ช่วยเหลือหรืออุดหนุนกิจกรรมที่เป็นการส่งเสริมการพัฒนาฝีมือแรงงาน และใช้จ่ายในการบริหารกองทุนฯ สำหรับสินทรัพย์กองทุนฯ มีทั้งหมดกว่า 1,240 ล้านบาท รายได้เข้ากองทุนฯ กว่า 75 ล้านบาท ค่าใช้จ่ายกว่า 60 ล้านบาท ซึ่งรายได้สูงกว่าค่าใช้จ่ายสุทธิ ทั้งนี้ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินไม่พบข้อมูลที่ขัดต่อข้อเท็จจริงหรือการทุจริต
ขณะที่ สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายเสนอแนะให้ศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดปรับปรุงช่องทางฝึกอบรมหลักสูตรพัฒนาฝีมือแรงงานเป็นแบบออนไลน์ เพราะจะทำให้แรงงานสามารถเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ไร้ข้อจำกัด พร้อมเห็นว่า ควรจัดหลักสูตรต่อเนื่องให้ผู้ผ่านหลักสูตรเบื้องต้นแล้วได้ฝึกอบรมต่อ เพื่อให้แรงงานมีทักษะก้าวทันการพัฒนาของเทคโนโลยี.-319 – สำนักข่าวไทย