สธ.31 ส.ค.-รองปลัดสธ.ย้ำวางระบบจัดซื้อยาใหม่ ในปี งบประมาณ 61 เรียบร้อย เชื่อไม่มีปัญหายาขาด ชี้แจงเหตุเปลี่ยนระบบ เนื่องจากต้องปฏิบัติให้ถูกต้องตามระเบียบ กรมบัญชีกลาง แจงกรณียาต้านไวรัสเอดส์ที่ขาด ไม่ได้มาจากระบบจัดซื้อยา มาจากยาติดสิทธิบัตร
นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมด้วย นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผอ.องค์การเภสัชกรรม นพ.มานัส โพธาภรณ์ ผอ.ราชวิถี และนพ.จักรกริช โง้วศิริ ผู้ช่วยเลขาธิการ สปสช. กล่าวชี้แจงกรณีการจัดซื้อยาในโครงการพิเศษ ว่า การจัดซื้อยาในครั้งนี้ ไม่อยากให้เกิดความวิตกกังวล ว่าผู้ป่วยจะไม่ได้รับยาเพราะได้มีการประสานและเตรียมตัวมาตั้งแต่เดือนพฤษภาคมแล้ว เพียงแต่ขึ้นชื่อว่าของใหม่ จัดซื้อใหม่ อาจไม่คุ้นหู ภาคประชาชนเลยวิตกกังวล ซึ่งเรื่องการจัดซื้อยาได้มีการหารือกับนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีมาตลอด และปรึกษากรมบัญชีกลาง ด้วย เนื่องจาก สตง. และคตร.ก็ระบุตรงกันว่า ไม่สามารถให้ สปสช.ดำเนินการจัดซื้อยาและให้ อภ.เป็นผู้กระจายยาต่อไปแบบเดิมได้อีก เนื่องจากผิดระเบียบ
นพ.สมศักดิ์ กล่าวต่อว่า การจัดซื้อยาใหม่นี้ ได้มีการนำระบบเดิมของ สปสช.มาใช้ทุกอย่าง เพียงแต่เปลี่ยนผู้ดูแลก็เท่านั้น โดยให้อำนาจ รพ.ราชวิถี ในการดำเนินการแทน เนื่องจากเป็นโรงพยาบาลส่วนกลาง ตรงตามระเบียบของกรมบัญชีกลางที่ระบุให้ อำนาจ สถานพยาบาล เป็นผู้ดำเนินการ สั่งซื้อ และส่งต่อให้ อภ.เป็นผู้กระจายยาเหมือนเดิม
พร้อมกันนี้ ในขั้นตอนการตรวจสอบการจัดซื้อยา หากภาคประชาชนยังมีความไม่สบายใจก็จะตั้งให้เป็น 1 ในคณะกรรมการตรวจสอบด้วย ส่วนเรื่องจัดซื้อ จะมีการจัดตั้งคณะกรรมการจัดทำข้อเสนอเวชภัณฑ์ในโครงการหลักประกันสุขภาพ ในสัปดาห์หน้า
ด้าน นพ.นพพร กล่าวว่า ขอให้ความมั่นใจเรื่องการจัดซื้อ จะไม่มีปัญหายาขาดแคลนแน่นอน เนื่องจากทุกฝ่ายในคณะทำงาน ยังเป็นกลุ่มเดิม มีตั้ง สปสช. อภ.เพียงแต่มีรพ.ราชวิถี ร่วม สต๊อกยา ก็ได้มีการสำรวจ และพูดคุยกับทางสปสช.แล้ว ซึ่งในส่วนยา อะบาคาเวียร์ (ยาต้านไวรัสเอดส์) ที่มีปัญหาผู้ป่วยได้รับยาไม่ต่อเนื่องนั้น มาจากทางบริษัทยา มีปัญหาในการผลิต เนื่องจากยาดังกล่าวติดสิทธิบัตรยา ทำให้ผู้ป่วยได้รับยาไม่ได้ตามจำนวนมากที่ต้องการ เช่น ต้องการยา 3 เดือน อาจได้รับแค่ 1 เดือน ซึ่งเรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวกับปัญหายาขาด เพราะกระบวนการจัดซื้อยาใหม่ จึงต้องชี้แจงให้ผู้ป่วยเข้าใจ
ขณะที่ นพ.จักรกริช กล่าวว่า สำหรับกระบวนการโอนเงินจัดซื้อยา จะต้องรอสำนักงบประมาณ โอนมาให้ก่อน จากนั้นจึงจะโอนให้รพ.ราชวิถีดำเนินการ ที่ผ่านมาใน 1 ปี ทาง สปสช. ดำเนินการจัดซื้อยารวมเฉลี่ยปีละ 3-4 งวด เพื่อให้ยามีเพียงพอ ทั้งไม่เก่า และไม่ขาด เป็นการจัดซื้อตามจำนวนผู้ป่วยในระบบ .-สำนักข่าวไทย