รัฐสภา 17 ก.ค.- “พิชัย’ ยัน รัฐบาลจัดสรรเม็ดเงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างมีประสิทธิภาพ ย้ำ ไม่ใช่คิดไปทำไป แต่คิดตั้งแต่วันแรกว่าต้องมีนโยบาย ‘ดิจิทัลวอลเล็ต’ ชี้ หากจะแก้ปัญหาโครงสร้าง ต้องรู้ก่อนว่าทำให้ใคร
นายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ชี้แจงในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ถึงร่างพระราชบัญญัติประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ 2567 วงเงิน 122,000 ล้านบาท ที่ สส.มองว่า การแจกเงินในครั้งนี้ จะเป็นการสร้างหนี้ ว่า หากมีการใช้งบประมาณ โดยที่มีการเก็บรายได้ไม่เพียงพอ ก็ต้องมีการกู้ทั้งนั้น ไม่ว่าจะใช้จากตัวงบประมาณเอง หรือ ม. 28 ก็ตาม นี่ก็คือภาระหนี้ในวันนี้ และหนี้ที่ต้องกู้ในอนาคต แต่สิ่งที่เรามองเห็น คือความจำเป็นในการที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ เนื่องจากเศรษฐกิจของเรามีลักษณะที่หดตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง
นายพิชัย ชี้ว่า เราก็ทราบปัญหากันลึกๆ ว่า ปัญหานี้ หรือที่บางคนเรียกว่า เป็น 10 ปีที่สูญเปล่า แล้วเราไม่ได้ทำอะไร แต่วันนี้เหตุการณ์เกิดขึ้นแล้ว วิกฤติเกิดขึ้นแล้ว เป็นวิกฤติที่ไม่ได้เกิดขึ้นทันที แต่เป็นวิกฤติที่เรามองเห็นอยู่ข้างหน้าว่า หากเราไม่ทำอะไรที่จะเป็นการกระตุ้น ไม่ช้าก็เร็ววิกฤติจะมาแน่นอน
นายพิชัย กล่าวถึงผลพวงของวิกฤติเศรษฐกิจที่จะกระทบกับ 3 กลุ่ม คือ 1. ประชาชน หรือหนี้ครัวเรือน ที่มีอัตราเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง 2. หนี้ของร้านค้า ซึ่งฝ่ายหนึ่งคือผู้บริโภคเอง ที่มีสาเหตุมาจากการมีรายได้ไม่เพียงพอ และมีเหตุผลมาจากรายได้ประเทศที่ต่ำเกินไป เราจึงต้องมาแก้ปัญหาที่รายได้ส่วนนี้ และ 3. เมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้แล้ว กำลังซื้อลดลง เงินเฟ้อขึ้น ตนเชื่อว่าไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลไหน ที่มีหน้าที่ในการดูแลทั้งภาคผู้บริโภคและภาคผู้ผลิต สิ่งที่เราทำคือก็ต้องสร้างหนี้ เพื่อแก้ปัญหา
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มหนี้ในครั้งนี้ ก็ยังอยู่ในวิสัยที่คิดว่า หนี้มากหรือน้อยไปหรือไม่ จากความสามารถในการชำระคืนของประเทศ ย้ำว่า วันนี้มีความจำเป็นที่จะต้องกระตุ้นเศรษฐกิจ อย่างต่อเนื่อง นี่จึงเป็นรายจ่ายพิเศษเพื่อกระตุ้น และแม้หลายคนจะบอกว่า สิ่งนี้จะไปสู่นายทุนใหญ่ แต่สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น สุดท้ายก็วนกลับมาสู่รายย่อยแน่นอน
สำหรับที่สมาชิกบอกว่า ทำไมไม่แก้ที่โครงสร้างนั้น ตนขอถามว่า เราต้องรู้ก่อนว่าทำให้ใคร และใช้กระบวนการแก้ไขปัญหาเพื่อเรื่องอะไร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ อยู่ระหว่างการพิจารณา และระหว่างการเซ็นสัญญาบีโอไอ ที่จะเป็นตัวบอกว่า ปัญหาโครงสร้างที่ควรแก้คืออะไร และจะออกผลควบคู่ไปกับกระบวนการผลิตและการลงทุน เพื่อให้เกิดขีดความสามารถในการแข่งขัน
“ลงวันนี้ไม่เกิดทันที กระตุ้นไม่ได้ทันที แต่จำเป็นต้องทำ ทำในจังหวะที่เหมาะสม สอดคล้องกับผู้ที่มาใช้” นายพิชัย กล่าว
สำหรับกรณีที่บอกว่า มีความล่าช้า คิดไปทำไป ทำไมไม่คิดให้จบทีเดียวนั้น ตนขอปฏิเสธว่า ไม่ใช่คิดไปทำไป เราคิดตั้งแต่วันแรกแล้ว ว่าเป็นนโยบายที่ต้องทำ เราคิดตลอดเสมอว่าจะต้องปรับปรุง เพื่อหาว่ามีทางไหนบ้างที่เป็นทางเลือกที่ดีที่สุด และเป็นการจัดสรรงบประมาณในจังหวะเวลาที่เราเลือกแล้ว เพื่อนำไปใช้จ่ายในสิ่งที่มี ถ้าเราเห็นปัญหาเชิงโครงสร้างที่ต้องปรับปรุง เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโต ก็เป็นทางเลือกแรกที่ต้องใช้ก่อน แต่ถ้าเรื่องการหาเม็ดเงิน เพื่อปรับปรุงมาทำโครงการที่จำเป็นเช่นเดียวกัน ในเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ เราก็ให้ความสำคัญเป็นอันดับที่สอง ยืนยันว่า เป็นการจัดสรรเม็ดเงินอย่างมีประสิทธิภาพ.-312 – สำนักข่าวไทย