กรุงเทพฯ 25 ต.ค. – กลุ่ม ปตท.ยังเดินหน้าศึกษาลงทุนปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ในเวียดนามต่อ แม้ซาอุฯ จะถอนตัว และท่าทีจังหวัด Binh Dinh พื้นที่ลงทุนอาจปรับแผนไม่ส่งเสริมอุตสาหกรรมปิโตรเคมี พร้อมปรับแผนใหม่ลดขนาดโรงกลั่นฯ เน้นเป็นเพิ่มผลผลิตปิโตรเคมีให้ผลตอบแทนการลงทุนที่ดี
นายสุกฤตย์ สุรบถโสภณ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) เปิดเผยว่า จากที่ บมจ.ปตท.มอบหมายให้ไออาร์พีซีเป็นผู้ศึกษาโครงการลงทุนโรงกลั่นและปิโตรคอมเพล็กซ์ในเวียดนามของกลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT) ฉบับปรับปรุงใหม่ (Victory Project Reconfiguration) เบื้องต้นปรับปรุงใหม่เป็นโรงกลั่นที่เน้นด้านการผลิตปิโตรเคมีเป็นหลัก เพื่อรองรับกับเทคโนโลยีของโลกที่เปลี่ยนแปลงที่รถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) มาแทนที่รถใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น และในเวียดนามเองก็มีการสร้างโรงกลั่นในประเทศเกิดขึ้นแล้ว 2 แห่ง
สำหรับผลการศึกษา Victory Project Reconfiguration ในเวียดนามฉบับปรับปรุงใหม่เบื้องต้นปรับขนาดการลงทุนโรงกลั่นน้ำมันลงเหลือ 200,000 บาร์เรล/วัน จากเดิม 400,000 บาร์เรล/วัน กำลังการผลิต Olefins 3 ล้านตัน/ปี Aromatics 1.4 ล้านตัน/ปี เงินลงทุนประมาณ 12,000 ล้านเหรียญสหรัฐ จากเดิม 18,000-20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยจะได้ผลผลิตน้ำมันเพียงน้ำมันดีเซลและน้ำมันอากาศยาน รวม 70,000-80,000 บาร์เรล/วัน หรือประมาณร้อยละ 35-40 เท่านั้น ขณะที่ส่วนใหญ่จะเป็นวัตถุดิบในการผลิตปิโตรเคมีประเภทต่าง ๆ เช่น LLDPE, HDPE, PP, PX, Benzene , Butadiene เป็นต้น คาดว่าจะสร้างกำไรขั้นต้นจากการกลุ่มผลิตของกลุ่ม (GIM) ระดับ 25-30 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล อัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ระดับร้อยละ 12-14
อย่างไรก็ตาม โครงการนี้จะเกิดขึ้นได้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับเรื่องพื้นที่ลงทุนที่สิ้นปีนี้จะรับทราบชัดเจนว่ารัฐบาลท้องถิ่นจังหวัด Binh Dinh ว่าจะยังให้การสนับสนุนโครงการปิโตรเคมีอยู่หรือไม่ หากทางจังหวัดไม่เห็นชอบก็ต้องหาพื้นที่อื่นในเวียดนามต่อไป ขณะเดียวกันกลุ่มปตท.ก็ต้องหาพันธมิตรร่วมทุนรายใหม่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้บริษัท ซาอุดิอารัมโก (Saudi Aramco) ซึ่งเป็นบริษัทน้ำมันแห่งชาติของซาอุดิอาระเบียถอนตัวจากการร่วมทุนร้อยละ 40 ในโครงการ โดยกลุ่ม ปตท.ยังคงตั้งเป้าหมายจะถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วนร้อยละ 50
“ปี 2560 คงจะทราบชัดเจนว่าการลงทุนในเวียดนามจะเกิดขึ้นได้หรือไม่ หากหาพื้นที่ไม่ได้ไออาร์พีซี ก็จะลงทุนในประเทศไทยในโครงการพาราไซลีน (PX) ที่บริษัทจะเป็นผู้ลงทุนเอง จากเดิมเคยศึกษาโครงการร่วมกันระหว่าง บมจ.ไทยออยล์ (TOP) และ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) อาจมีกำลังผลิต 900,000 ตัน/ปี โดยนำวัตถุดิบจากของบริษัททั้งหมดมาจากโครงการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ (UHV) โดยต้องดูสถานการณ์และดูความสามารถในการลงทุนของไออาร์พีซีเองด้วย เราคงไม่ลงทุน 2 โครงการพร้อมกัน”นายสุกฤตย์ กล่าว
ทั้งนี้ ประเทศเวียดนามที่ยังมีความต้องการใช้ปิโตรเคมีค่อนข้างสูง โดยความต้องการใช้ปิโตรเคมีจะเติบโตมากกว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ที่ขยายตัวปีละร้อยละ 6-7 กำลังผลิตไม่เพียงพอ โดยมีโรงกลั่นน้ำมันในประเทศเพียง 2 แห่ง โดยโรงแรกกำลังกลั่น 100,000 บาร์เรล/วัน ทำโพรไพลีนบางส่วน ส่วนโรงที่ 2 เสร็จปลายปี 2560 กำลังกลั่น 200,000 บาร์เรล/วัน เน้นการกลั่นและทำอะโรเมติกส์ไม่มาก ส่วนโครงการปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์ Long Son Petrochemicals ของกลุ่ม บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) อยู่ระหว่างการดำเนินการ แต่ยังไม่ได้เริ่มก่อสร้าง โครงการนี้หาผู้ร่วมทุนใหม่แทน Qatar Petroleum International หากก่อสร้างเสร็จก็ยังไม่เพียงพอ เพราะความต้องการปิโตรเคมีของเวียดนามยังสูงมาก
ส่วนผลดำเนินการของไออาร์พีซีปี 2559 นายสุกฤติย์ ยังเชื่อมั่นว่าปีนี้จะมีกำไรสุทธิมากกว่าปีที่แล้วที่ 9,400 ล้านบาทในปีที่แล้ว แม้ว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย, ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) นั้นก็อาจจะทำไม่ได้ตามเป้าหมาย หลังโครงการ EVEREST เพื่อเพิ่มขีดความสามารถองค์กรในทุกด้านนั้นสามารถสร้างกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่ายและภาษี (EBIT) ได้เพียง 2,700 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ว่าจะสร้าง EBIT ได้ 3,400 ล้านบาท เป็นผลมาจากโครงการ UHV ล่าช้ากว่าแผน โดยเสร็จสิ้นเดือนกรกฎาคม จากเดิมที่ต้องเดินเครื่องผลิตไตรมาส 1/2559 ด้านแนวโน้ม ค่าการกลั่นรวม หรือ GIM ปีนี้จะต่ำกว่าปีที่แล้วด้วย แต่ในส่วนกำไรที่เพิ่มขึ้นปีนี้ส่วนหนึ่งมาจากราคาน้ำมันดิบดูไบที่ปรับขึ้นมาอยู่ในระดับใกล้ ๆ 50 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ทำให้คาดว่าธุรกิจโรงกลั่นในสิ้นไตรมาส 4/2559 น่าจะมีกำไรจากสตอกน้ำมัน แม้ว่ามาร์จิ้นในช่วงครึ่งหลังปีนี้จะต่ำกว่าครึ่งปีแรกก็ตาม. -สำนักข่าวไทย