5 ก.ค. – “หมอมนูญ” ย้ำถึงเวลาที่ประเทศไทยจะต้องให้ความสำคัญกับง่วงหลับในไม่ขับรถ เพราะปัญหาง่วงนอนหลับใน เป็นปัจจัยสำคัญก่อให้เกิดอุบัติเหตุ
นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ ประธานกองทุนง่วงอย่าขับ มูลนิธิรามาธิบดี กล่าวถึงกรณีเกิดอุบัติเหตุหลายจุดบริเวณถนนสุขาภิบาล 5 เขตสายไหม กรุงเทพฯ ว่า อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่ในบ้านเราจะพูดถึงประเด็น เมาแล้วขับ ขับเร็ว และประมาท ในขณะที่ต่างประเทศจะให้ความสำคัญไปกับง่วงแล้วขับหลับใน ในสหรัฐอเมริกา ผลการวิจัยระบุชัดว่าอุบัติเหตุใหญ่ ๆ 20% เกิดจากง่วงหลับใน ขณะบ้านเรากลับบอกว่า ง่วงหลับใน มีแค่ 3-4% ซึ่งมันต่ำ และน้อยกว่าความเป็นจริง เพราะคนไทยเราทำงานหนักมาก โดยเฉพาะกลุ่มขนส่ง ที่ทำงานหามรุ่งหามค่ำ นอนไม่เพียงพอ นอนน้อย อดนอนสะสม จึงจึงทำให้หลับใน ซึ่งช่วงเวลาที่มักเกิดการง่วงนอน มี 2 ช่วงเวลา คือ ในช่วงกลางวัน ช่วงเวลา 14.00-16.00 น. และหลังเที่ยงคืนถึง 6 โมงเช้า ดังนั้นจะพบอุบัติเหตุง่วงหลับในมากที่สุดใน 2 ช่วงนี้
บ้านเราอุบัติเหตุขนาดใหญ่ เรามักโทษว่ามาจากเมาแล้วขับ ทั้งที่ความจริง ปัญหาอุบัติเหตุในบ้านเราที่เกิดมาจากง่วงนอนหลับใน ซึ่งเกิดขึ้นอยู่ทุกวัน แต่เรา ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล สังคมและประชาชนอย่างเรากลับไม่ให้ความสำคัญในเรื่องดังกล่าวเลย เพราะเราไปเชื่อองค์การอนามัยโลก เพราะองค์การอนามัยโลกไม่ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ซึ่งดูได้จากรายงานการวิจัย และสถิติอุบัติเหตุ ในปีที่แล้วขององค์การอนามัยโลก ไม่มีการพูดถึงอุบัติเหตุที่เกิดจากง่วงหลับในเลย แม้แต่เคสเดียว
นพ.มนูญ ยังกล่าวอีกว่า อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเมื่อคืนที่ผ่านมา ตนไม่โทษคนขับรถ เพราะอุบัติเหตุเกิดขึ้นได้กับทุกคน ถ้าจะโทษสังคม ที่ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องดังกล่าว ตนพยายามมาตลอด 20 ปี ขอให้รัฐบาลแก้ไขและเพิ่มข้อความในการรณรงค์ จากเมาแล้วขับเป็น เมา ง่วง ไม่ ขับ แต่ไม่มีใครสนใจ ไม่ใส่ใจ ที่จะแก้ไข
ดังนั้นจึงถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยในทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นรัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และคนไทยทุกคนต้องหันมาให้ความสำคัญร่วมกันสร้างวินัยให้กับสังคม ง่วงไม่ขับ สำหรับคนขับรถก็ต้องมีวินัยในตัวเอง ในช่วงเวลาขับรถจะต้องเช็คสภาพตัวเองว่าง่วงหรือไม่ และยังสามารถขับรถไหวหรือเปล่า หากรู้สึกง่วงต้องหาทางแก้ไข เช่น เปิดวิทยุฟังเพลง ร้องเพลงคลอ เคี้ยวมากฝรั่ง หรือ ดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง หากไม่ไหวต้องหยุดรถทันทีเพื่อนอนหลับพักสายตาอย่างน้อย 15 นาที. -414-สำนักข่าวไทย