กรมสุขภาพจิต 25 ส.ค.-อธิบดีกรมสุขภาพจิต ชี้การเกษียณอายุราชการที่อายุ 60 ปีเป็นเพียงข้อกำหนดให้ได้พักผ่อนจากงานประจำ แนะศิลปะการเป็นผู้สูงวัย 6 ประการ สร้างชีวิตวัยเกษียณมีคุณค่า คิดบวก เรียนรู้สิ่งใหม่ เปิดรับแนวคิดความรู้ใหม่ๆอย่าหยุดทำกิจกรรม อย่ากลัวเทคโนโลยี
นาวาอากาศตรีนายแพทย์บุญเรือง ไตรเรืองวรวัฒน์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวในการเปิดงานโครงการเสริมสร้างความพึงพอใจในชีวิตเพื่อสุขภาพจิตผู้สูงอายุ เพื่อยกย่องเชิดชูเกียรติและเป็นการเตรียมความพร้อมให้บุคลากรในสังกัดที่มีอายุครบ60 ปีและจะเกษียนอายุราชการในวันที่ 30 กันยายน 2560 จำนวน 140 คนว่า ในวันที่ 1 ตุลาคมทุกปี ถือว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านก้าวสู่การเริ่มต้นใหม่ของผู้ที่เกษียณอายุราชการ ซึ่งการเกษียณอายุมิได้หมายความว่าจะสิ้นสุดภาระหน้าที่ที่พึงมีต่อประเทศชาติ แต่เป็นเพียงข้อกำหนดให้บุคลากรที่ปฏิบัติหน้าที่ได้พักผ่อนจากภาระประจำที่ต้องเหน็ดเหนื่อยมายาวนาน ถึงแม้ว่าจะเกษียณไปแล้ว ก็ยังสามารถนำความรู้ประสบการณ์ที่สั่งสมมานำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อสังคม และประเทศชาติได้
“ขณะนี้จำนวนผู้สูงอายุประเทศไทยมีมากขึ้นเรื่อยๆ ข้อมูลล่าสุดสำนักงานสถิติแห่งชาติ รายงานในปี2559 ไทยมีผู้สูงอายุทั่วประเทศ 9.8 ล้านคน โดยจะมีผู้สูงอายุรายใหม่เพิ่มวันละประมาณ 2,000 คน การสูงวัยไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวหรือสิ้นสุด แต่เป็นสิ่งที่ท้าทายในการสร้างความภาคภูมิใจ ความสุข แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีความเชื่อคนในสังคมที่เข้าใจผิดคิดว่าผู้สูงอายุเป็นผู้อ่อนแอ มีความเปราะบาง สุขภาพกายทรุดโทรม เหงาหงอยหรือขี้บ่น หงุดหงิด โกรธเกรี้ยวลูกหลาน ฯลฯ ซึ่งความคิดความเชื่อของสังคมอาจจะมีอิทธิพลต่อความความรู้สึกของตัวผู้สูงอายุเองคิดว่าเมื่ออายุเลย 60 ปีแล้ว จะต้องเก็บเนื้อเก็บตัว ลดกิจกรรมทางสังคม ไม่มีการริเริ่มหรือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ไม่ต้องคบหาคนใหม่ๆ อยู่ในแวดวงเดิมๆ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อสุขภาพจิตและสุขภาพกายตามมาได้ ”อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า ในการรักษาสุขภาพจิต มีคำแนะนำผู้สูงอายุทุกคน 6 ประการ เพื่อยึดเป็นศิลปะการเป็นผู้สูงวัยอยู่ร่วมกับวัยอื่นๆได้อย่างมีความสุขดังนี้ 1.พบปะสังสรรค์สม่ำเสมอ ผู้สูงอายุจะต้องมีกลุ่มเพื่อทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น ทำการกุศล จิตอาสาและอื่นๆ การพบปะกลุ่มเพื่อนเสมอๆจะเป็นการจุดพลัง ได้มีเสียงหัวเราะ เสริมสร้างความสุขจากพูดคุยในวงเพื่อนฝูง 2.ออกจากพื้นที่สบาย (Comfort Zone ) ซึ่งคนแต่ละคนจะมีพื้นที่สบายๆในชีวิต เช่นงานที่ทำจนชำนาญ หลับตามองเห็นทะลุปรุโปร่ง เมื่อใดที่รู้สึกว่าเก่งที่สุดแล้วในที่นั้นๆ จะทำให้ชีวิตไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง การทำกิจวัตรเดิมๆเป็นเดือน เป็นปี จะไม่เกิดแรงบันดาลใจ ควรจะออกจากพื้นที่สบายและค้นหาความสนุก ค้นหาทักษะ ความรู้ใหม่ๆ ผู้สูงอายุก็เช่นเดียวกัน อาจเริ่มจากเรื่องเล็กน้อย เช่นเรื่องอาหารการกิน ลองรับประทานอาหารที่หน้าตาแปลกใหม่ รสชาติใหม่ๆ เมนูใหม่ หรือเดินทางใช้เส้นทางใหม่บ้าง หรือเรียนรู้ทักษะความรู้อื่นๆด้วย เช่น เกษียนจากงานหนึ่ง อาจไปเรียนรู้ศาสตร์ที่ไม่เคยเรียนหรือชำนาญเลย คนที่จบศาสตร์ทางวิทยาศาสตร์ อาจไปเรียนด้านศิลปะ ดนตรี ได้พบความรู้ใหม่ คนใหม่ๆ เพื่อให้สมองออกกำลังกาย ไม่เกิดโรคสมองเสื่อมตามมา
3.หยุดบ่นพูดว่า หรือรำคาญสิ่งรอบตัว การบ่นทุกเรื่องที่เกิดขึ้น มองเห็นทุกสิ่งเป็นภาพลบ จะมีแต่เรื่องลบๆในชีวิต ทำให้มีความรู้สึกแย่ ผู้ที่ได้ยินได้ฟังเสียงบ่นตลอดเวลาจะรู้สึกหงุดหงิด เพิ่มความรู้สึกแย่ลง ดังนั้นผู้สูงอายุควรจะพิจารณาว่าสิ่งนั้นแก้ไขได้หรือไม่ บ่นแล้วดีขึ้นมั้ย ควรหยุดบ่นและปล่อยผ่านสิ่งที่แก้ไขไม่ได้ 4.หยุดพูดถึงปัญหาสุขภาพซ้ำๆซากๆ ควรพูดเมื่อลูกหลานหรือคนรอบข้างถามเกี่ยวกับสุขภาพตามสมควรไม่มากหรือน้อยเกินไป และควรเป็นการพูดเพื่อหาข้อมูลและวิธีการในการดูแลตนเองแทนการพูดบ่น
5.หยุดบ่นให้เด็กๆ ลูกหลานวัยอื่น ซึ่งเด็กยุคนี้ เป็นผู้ที่ใช้เทคโนโลยี เช่นสมาร์ทโฟน สื่อสารทางโซเชียลมีเดีย เด็กๆอาจจะไม่พูดคุยกับปู่ย่าแม้นั่งใกล้กัน ผู้ใหญ่ก็ควรเข้าใจเด็กๆ และคิดในทางบวก ทำความเข้าใจวิถีชีวิตของคนรุ่นใหม่ โดยให้ระลึกไว้ในใจว่า ลูกหลานเราต้องแข่งขันสูงในด้านการเรียน ต้องใช้เวลาในการเรียนการศึกษามาก อาจจะทำให้มีเวลาน้อยกับปู่ย่าตายาย และในการพูดคุยกับลูกหลานควรรับฟังลูกหลานให้มาก ไม่จำเป็นที่ปู่ย่าจะต้องเป็นผู้ชนะหรือเป็นผู้ถูกต้องเสมอ การเป็นผู้รับฟัง เข้าใจอารมณ์ความรู้สึกของลูกหลาน ให้กำลังใจ ให้ความอบอุ่น ให้แง่มุมการใช้ชีวิตที่ถูกต้อง ความรัก ความเคารพของลูกหลานจะมีให้แน่นอน และ 6 .ให้เปิดใจให้กับการเรียนรู้อย่างแท้จริง ผู้สูงวัยมักมีปัญหาการใช้เทคโนโลยี ต่อต้านการเรียนรู้สิ่งใหม่ มักจะกลัวเทคโนโลยี (Geriatric Technophobia) จึงควรเรียนรู้การใช้อุปกรณ์เครื่องใช้ เพราะการไม่เรียนรู้จะทำให้เกิดอันตรายได้ รวมทั้งการเปิดรับแนวคิดใหม่ๆ ความรู้ใหม่ๆ จะทำให้ผู้สูงอายุเข้าใจพฤติกรรมความคิดคนรุ่นใหม่ อยู่ร่วมกับคนต่างวัยได้อย่างมีความสุขมากขึ้น
“คำที่คนมักพูดกันว่า แก่ไม่แก่อยู่ที่ใจนั้น เป็นเรื่องจริง ผู้ที่นึกคิดต่อตนอย่างไรก็จะแสดงพฤติกรรมเช่นนั้น การมองสิ่งต่างๆในด้านลบ อารมณ์เสีย ตำหนิติเตียนวิพากษ์วิจารณ์ ไม่ยืดหยุ่นและขี้บ่น ไม่ได้ทำให้เกิดความรู้สึกดีทั้งตัวผู้สูงอายุและผู้คนรอบข้าง ควรหลีกเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ และหากผู้สูงอายุปฏิบัติตามข้างต้นที่กล่าวมา ก็จะทำให้เป็นผู้สูงอายุที่มีจิตใจแจ่มใส และมีความสุขตลอดช่วงวัย” อธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว .-สำนักข่าวไทย