ประจวบคีรีขันธ์ 14 มิ.ย. – “สุรพงษ์” เดินทางโดยรถไฟขบวนพิเศษท่องเที่ยว SRT ROYAL BLOSSOM จากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์-สถานีรถไฟหัวหิน ติดตามความคืบหน้าการเปิดเดินรถไฟทางคู่ระยะเร่งด่วน ช่วงนครปฐม-ชุมพร
นายสุรพงษ์ ปิยะโชติ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม เดินทางโดยรถไฟขบวนพิเศษท่องเที่ยว SRT ROYAL BLOSSOM จากสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ – สถานีรถไฟหัวหิน เพื่อติดตามความคืบหน้าการเปิดการเดินรถไฟทางคู่ ระยะที่ 2 ระหว่างสถานีนครปฐม – คูบัว การก่อสร้างทางคู่ สัญญาที่ 1 ช่วงนครปฐม – หนองปลาไหล และเยี่ยมชมสถานีรถไฟหัวหินโดยมีนายเจร รุ่งฐานีย รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย บรรยายสรุปปัญหาและอุปสรรคการเปิดการเดินรถทางคู่ การดัดแปลงขบวนรถไฟท่องเที่ยว SRT ROYAL BLOSSOM และการเปิดให้ใช้บริการสถานีรถไฟหัวหินใหม่
นายสุรพงษ์ กล่าวว่า หลังจากที่ได้มอบนโยบายให้การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ครั้งแรกเมื่อเดือนตุลาคม 2566 ที่ผ่านมา ให้ดำเนินนโยบาย Quick Win “คมนาคม ของประชาชน” เพื่อมุ่งนำเทคโนโลยี นวัตกรรมที่ทันสมัย มาใช้กับการดำเนินภารกิจของหน่วยงานอย่างสร้างสรรค์ ให้เป็นองค์กรที่ทันสมัย เพื่อให้ประชาชนเกิดประโยชน์สูงสุด และเป็นฟันเฟืองหลักในการพัฒนาระบบขนส่งทางรางให้สามารถแข่งขันกับนานาประเทศได้ เป้าหมายสำคัญจะต้องทำให้ รฟท. กลับมาเป็นองค์กรที่มีความเข้มแข็ง สามารถขับเคลื่อนระบบการขนส่งทางรางของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน ให้ รฟท. เพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการแก่ประชาชนไม่ว่าจะเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวทางรถไฟ สนับสนุนชุมชนท้องถิ่นในเส้นทางท่องเที่ยวให้สามารถจำหน่ายสินค้าของที่ระลึกกับนักท่องเที่ยว เป็นการสร้างงานสร้างอาชีพอย่างยั่งยืน และได้เร่งรัดดำเนินโครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ และรถไฟสายใหม่ทั่วประเทศให้แล้วเสร็จตามแผนงาน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการขนส่งทางรางให้เป็นระบบขนส่งหลักของประเทศ ที่มีประสิทธิภาพ สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และการขนส่งสินค้าเชื่อมโยงทุกภูมิภาค รวมถึงมีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจ และการท่องเที่ยวของประเทศด้วย
นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2566 รฟท. ได้เปิดให้บริการรถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม – ชุมพร ระหว่างสถานีบ้านคูบัว จังหวัดราชบุรี ถึงสถานีสะพลี จังหวัดชุมพร ระยะทาง 347.4 กิโลเมตร และล่าสุดเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2567 ที่ผ่านมา รฟท. ได้เปิดใช้งานรถไฟทางคู่สายใต้ เพิ่มอีก 72.6 กิโลเมตร ระหว่างสถานีนครปฐม – บ้านคูบัว ระยะทาง 57 กิโลเมตร และสถานีสะพลี – ชุมพร ระยะทาง 15.6 กิโลเมตร ทำให้ รฟท. สามารถเปิดใช้รถไฟทางคู่สายใต้ ช่วงนครปฐม – ชุมพร ได้ตลอดเส้นทาง รวมระยะทางทั้งสิ้น 420 กิโลเมตร ซึ่งจะช่วยลดระยะเวลาเดินทาง เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่งด้วยระบบรถไฟทางคู่ที่สะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ตรงต่อเวลา สามารถเชื่อมต่อการขนส่งและเส้นทางท่องเที่ยว เพิ่มขีดความสามารถทางเศรษฐกิจของพื้นที่และประเทศได้เป็นอย่างดี.- 513-สำนักข่าวไทย