กรุงเทพฯ 23 พ.ค.-ส.อ.ท.จ่อหั่นเป้าผลิตรถยนต์ปี 67 หลังยอดผลิต-ยอดขาย เดือนเม.ย.ลดฮวบ
นายสุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ ที่ปรึกษาประธานกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เดือนเมษายน 2567 ผลิตรถยนต์ทั้งสิ้น 104,667 คัน ลดลงจากเดือนเมษายน 2566 ที่ 11.02% จากการผลิตรถยนต์นั่งและรถกระบะเพื่อขายในประเทศที่ลดลง 5.03% และ 45.94% ตามลำดับสอดคล้องกับยอดขายที่ลดลง เพราะหนี้ครัวเรือนที่สูงและเศรษฐกิจเติบโตในอัตราต่ำ ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรมติดลมมาหลายเดือน กำลังซื้อยังเปราะบาง และลดลงจากเดือนมีนาคม 2567 ที่ 24.34%
โดยจำนวนรถยนต์ที่ผลิตได้ในเดือนมกราคม – เมษายน 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 518,790 คัน ลดลงจากเดือนมกราคม – เมษายน 2566 ที่ 17.05% ส่วนยอดผลิตรถยนต์นั่ง ตั้งแต่เดือนมกราคม – เมษายน 2567 มีจำนวน 193,239 คัน เท่ากับ 37.25% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนมกราคม – เมษายน 2566 ที่ 12.11%
ในขณะที่การผลิตเพื่อส่งออกเดือนเมษายน 2567 ผลิตได้ 71,928 คัน เท่ากับ 68.72% ของยอดการผลิตทั้งหมด เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2566 ที่ 5.92% ส่วนเดือนมกราคม – เมษายน 2567 ผลิตเพื่อส่งออกได้ 345,608 คัน เท่ากับ 66.62% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากปี 2566 ระยะเวลาเดียวกัน 2.93%
ส่วนการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศเดือนเมษายน 2567 ผลิตได้ 32,739 คัน เท่ากับร้อยละ 31.28 ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนเมษายน 2566 ที่ 34.17% และเดือนมกราคม – เมษายน 2567 ผลิตได้ 173,182 คัน เท่ากับ 33.38% ของยอดการผลิตทั้งหมด ลดลงจากเดือนมกราคม – เมษายน 2566 ที่ 35.71%
สำหรับยอดขายรถยนต์ภายในประเทศเดือนเมษายน 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 46,738 คัน ลดลงจากเดือนมีนาคม 2567 ที่ 16.69% และลดลงจากเดือนเดียวกันในปีที่แล้ว 21.49% จากการเข้มงวดในการอนุมัติสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ของสถาบันการเงินและเศรษฐกิจของประเทศเติบโตในระดับต่ำจากความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ทำให้การใช้จ่ายการลงทุนของรัฐบาลลดลงมากจนทำให้กำลังซื้อของประชาชนอ่อนแอลง ยอดขายรถยนต์จึงลดลงจากปีที่ผ่านมาถึง 21.49% จนตกไปเป็นอันดับ 3 รองจากประเทศมาเลเซียแล้ว เมื่องบประมาณปี 2567 มีผลแล้ว หวังว่ารัฐบาลจะเร่งรัดการเบิกจ่ายและการลงทุนรวมทั้งการกระตุ้นเศรษฐกิจให้เติบโต ซึ่งรัฐบาลก็ได้กระตุ้นการซื้ออสังหาริมทรัพย์เมื่อเดือนเมษายนแล้ว จึงขอรัฐบาลช่วยกระตุ้นการซื้อรถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์สันดาปภายในและรถกระบะที่ใช้ชิ้นส่วนผลิตในประเทศกว่า 90% ซึ่งมีอุตสาหกรรมต่อเนื่องจำนวนมากพอๆ กับอสังหาริมทรัพย์เพื่อให้อุตสาหกรรมเหล่านี้มีการผลิตเพิ่มขึ้น จ้างงานเพิ่มขึ้น ประชาชนมีงานทำมากขึ้น รัฐบาลเก็บภาษีสรรพสามิตและภาษีมูลค่าเพิ่มรวมทั้งภาษีเงินได้เพิ่มขึ้นทั้งนิติบุคคลและบุคคลธรรมดา เศรษฐกิจเติบโตในอัตราที่สูงขึ้น
สำหรับการส่งออกรถยนต์สำเร็จรูปเดือนเมษายน 2567 ส่งออกได้ 70,160 คัน ลดลงจากเดือนที่แล้ว 26.22% และลดลงจากเดือนเมษายน 2566 ที่ 12.23% เพราะผลิตเพื่อส่งออกได้น้อยจากจำนวนวันทำงานน้อยในเดือนเมษายน ส่งออกเท่ากับ 97.54% ของยอดการผลิตเพื่อการส่งออก จึงส่งออกเพิ่มขึ้นในตลาดอเมริกาเหนือและตลาดยุโรป โดยรวมมูลค่าส่งออกรถยนต์เดือนเมษายน 2567 เครื่องยนต์ ชิ้นส่วนรถยนต์ และอะไหล่ มีมูลค่า 69,274.91 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายน 2566 ที่ 5.79%
ส่วน ยานยนต์ไฟฟ้าป้ายแดงประเภท BEV เดือนเมษายน 2567 จดทะเบียนใหม่มีจำนวน 6,041 คัน ลดลงจากเดือนเมษายนปีที่แล้ว 16.60% รวมเดือนมกราคม – เมษายน 2567 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (BEV) จดทะเบียนใหม่สะสม 35,755 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม – เมษายนปีที่แล้ว 36.30% โดยมีการจดทะเบียนใหม่มี 10,414 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนเมษายนปีที่แล้ว 68.02% ในขณะที่เดือนมกราคม – เมษายน 2567 มียานยนต์ประเภทไฟฟ้า (HEV) จดทะเบียนใหม่สะสมมีจำนวน 48,528 คัน เพิ่มขึ้นจากเดือนมกราคม – เมษายนปีที่แล้ว 58.41%
ส่วนยานยนต์ไฟฟ้าจดทะเบียนสะสมประเภท BEV ณ วันที่ 30 เมษายน 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 167,334 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 187.38% ในขณะที่ ณ วันที่ 30 เมษายน 2567 มีจำนวนทั้งสิ้น 391,714 คัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 35.06%
“ส.อ.ท. อาจจะปรับเป้าการผลิตรถยนต์ปี 2567 เหลือจำนวน 1,900,000 คัน เนื่องจากการที่หลายสำนักได้ปรับลดเป้าเศรษฐกิจประเทศลงจึงคิดว่ายอดขายในประเทศอาจจะต้องเอามาปรับลง แต่ทั้งนี้ก็ต้องดูแผนกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐและแผนการลงทุนที่ล่าช้ามา 6 เดือน ว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน ส.อ.ท. จึงจะขอดูอีกที” นายสุรพงษ์กล่าว.-517-สำนักข่าวไทย