พังงา 23 พ.ค.- ปลัดกระทรวงพลังงาน เยี่ยมชมโครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ (Solar Floating) บนเกาะหมากน้อย จ.พังงา รับปากจะช่วยเร่งรัดเรื่องงบประมาณฯ ผ่านกลไกกองทุนอนุรักษ์พลังงานหรือกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อดำเนินโครงการที่เหลืออีก 3 เฟสให้แล้วเสร็จ เพื่อให้ชาวบ้าน 300 ครัวเรือนมีไฟฟ้าใช้ทั่วถึงตลอด 24 ชั่วโมง
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ชุมชนบ้านเกาะหมากน้อย ต.เกาะปันหยี จ.พังงา เป็นอีกพื้นที่ที่ไฟฟ้าสายส่งยังเข้าไม่ถึง ถึงแม้จะอยู่ห่างจากชายฝั่งไม่มากนัก ต้องพึ่งตนเองด้วยการใช้พลังงานทดแทนแบบผสมผสาน ปัจจุบัน ผลิตไฟฟ้าจาก 3 แหล่ง คือ 1. ระบบ Micro-Grid ผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ (Solar Floating) สนับสนุนโดย กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน 2. ระบบโซล่าโฮม ที่ชุมชนลงทุนติดตั้งเอง และระบบโซล่าโฮมแบบเติมเงินที่เอกชนลงทุนผ่านกลุ่มบริหารจัดการโดยชุมชนนำร่อง 10 ครัวเรือน 3. ระบบผลิตไฟฟ้าจากเครื่องปั่นไฟฟ้าน้ำมันดีเซลของเอกชน ซึ่งระบบนี้มีเวลาบริการจำกัดเพียง 4 ชั่วโมงต่อวัน ระหว่าง 18.30 – 22.30 น. ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ และไม่ครอบคลุมทุกครัวเรือน อีกทั้งไม่ครอบคลุมถึงพื้นที่สาธารณะและถนน ทำให้ไม่มีความปลอดภัยในการดำเนินชีวิตเท่าที่ควร นอกจากนี้ ยังมีหน่วยงานส่วนราชการบนเกาะที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าตลอด 24 ชั่วโมงอีกด้วย
โครงการพัฒนาระบบไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ (Solar Floating) บนเกาะหมากน้อย ต.เกาะปันหยี จ.พังงา ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปี 2564 วงเงิน 21 ล้านบาท ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Floating) ขนาดกำลังติดตั้งรวมไม่น้อยกว่า 200 กิโลวัตต์ พร้อมติดตั้งทุ่นลอยสำหรับรองรับแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ติดตั้งเครื่องควบคุมการประจุแบตเตอรี่อินเวอร์เตอร์ไฟฟ้าขนาดกำลังติดตั้งไม่น้อยกว่า 200 กิโลวัตต์ ระบบกักเก็บพลังงาน (แบตเตอรี่ลิเทียม) ขนาดความจุไม่น้อยกว่า 300 กิโลวัตต์–ชั่วโมง (kWh) พร้อมก่อสร้างโรงคลุมและติดตั้งโครงข่ายไฟฟ้าชุมชน ระยะทาง 2,000 เมตร มีการผลิตไฟฟ้าไปแล้ว 89,403 kWh (ข้อมูล ณ มีนาคม 2567) ครัวเรือนที่ได้รับประโยชน์ 30 ครัวเรือน และมีไฟฟ้าใช้ 24 ชั่วโมง เสียค่าไฟฟ้า 600 – 1,000 บาท/เดือน
“เกาะหมากน้อย เป็นเกาะที่มีพื้นที่รวม 9,500 ไร่ เฉพาะพื้นที่เกาะ 1,200 ไร่ มีประชากร 1,422 คน 358 ครัวเรือน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพ เกษตรกรรม ปลูกยาง มะพร้าว ทำประมง ค้าขาย ช่างจักรยานยนต์และเรือ มีโรงเรียน 1 แห่ง และ รพ.สต.1 แห่ง โดยโครงการฯ จะสามารถให้บริการครอบคลุมทั้งเกาะได้นั้น จะต้องติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าขนาด 400 kW แบตเตอรี่กักเก็บพลังงานขนาด 1,200 kWh และสายส่งทั้งสิ้น 9.5 กิโลเมตร ซึ่งจะต้องดำเนินการของบประมาณจากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานเพิ่มเติมในระยะต่อไป ซึ่งกระทรวงพลังงานจะพยายามติดตามและประสานเรื่องงบประมาณผ่านกลไกกองทุนอนุรักษ์พลังงานหรือกองทุนพัฒนาไฟฟ้า เพื่อให้ทุกครัวเรือนบนเกาะมีไฟฟ้าใช้ ทั้งในส่วนของโรงเรียน โรงพยาบาลส่วนตำบล และครัวเรือนทั่วไป ให้มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รวมทั้งมีการบริหารจัดการที่เข้มแข็งและยั่งยืน” ปลัดกระทรวงพลังงานกล่าว
ทั้งนี้ การติดตั้งโซล่าแบบทุ่นลอยน้ำเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพกำลังผลิตของแผ่นโซลาร์เซลล์ เพราะน้ำสามารถช่วยระบายความร้อนของระบบที่เกิดขึ้นระหว่างการผลิตไฟฟ้า และเพิ่มประสิทธิภาพกำลังการผลิตได้ 5-20% จากความเย็นของน้ำใต้แผ่น (Cooling Effect) เมื่อเทียบกับการติดตั้งโครงการโซลาร์ฟาร์มบนดินและโครงการโซลาร์บนหลังคาทั่วไป ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานที่และสภาพอากาศ รวมไปถึงทุ่นโซลาร์ฟาร์มลอยน้ำที่คลุมอยู่บนผิวน้ำยังช่วยลดการระเหยของน้ำที่กักเก็บไว้ใช้อีกด้วย อีกทั้งการใช้โซลาร์เซลล์ทดแทนน้ำมันดีเซลก็ช่วยลดมลภาวะด้านอากาศบนเกาะได้อีกด้วย.-517-สำนักข่าวไทย