ซิดนีย์ 16 พ.ค.- ประเทศเพื่อนบ้านของนิวแคลิโดเนีย ซึ่งเป็นดินแดนโพ้นทะเลในมหาสมุทรแปซิฟิกของฝรั่งเศส เรียกร้องให้พรรคการเมืองในนิวแคลิโดเนียและฝรั่งเศสหันหน้าเจรจากัน ขณะที่เหตุจลาจลต่อเนื่องเข้าสู่คืนที่ 3 มีคนเสียชีวิต 4 คน และถูกจับกุมหลายร้อยคน
นายวินสตัน ปีเตอร์ส รัฐมนตรีต่างประเทศนิวซีแลนด์ขอให้ทุกฝ่ายคลี่คลายสถานการณ์ที่สร้างความกังวลอย่างยิ่งไปทั่วภูมิภาคหมู่เกาะแปซิฟิก ขณะที่นายชาร์ลอต ซาลไว นายกรัฐมนตรีวานูอาตูกล่าวว่า การทำลายทรัพย์สินอย่างไม่เลือกหน้าจะให้เศรษฐกิจของนิวแคลิโดเนียเสียหายครั้งใหญ่ และจะส่งผลกระทบหนักต่อชีวิตของชาวแคลิโดเนียรวมถึงชนพื้นเมืองชาวคานัก (Kanaks) พร้อมกับเสนอให้ฝรั่งเศสเปิดการเจรจากับพรรคเอฟแอลเอ็นเคเอส (FLNKS) ที่มีแนวทางสนับสนุนการแยกตัวเป็นเอกราชจากฝรั่งเศส เพราะพรรคนี้ประณามการก่อจลาจล รวมทั้งขอให้ฝรั่งเศสยกเลิกการปฏิรูปรัฐธรรมนูญนิวแคลิโดเนียที่เป็นต้นเหตุของจลาจล ด้านนางเพนนี หว่อง รัฐมนตรีต่างประเทศออสเตรเลียกล่าวในรัฐสภาว่า ออสเตรเลียสนับสนุนให้ทุกฝ่ายหารือกัน
นิวแคลิโดเนียเป็นประเทศเกาะที่อุดมด้วยแร่ธาตุ ตั้งอยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของมหาสมุทรแปซิฟิก โดยอยู่ห่างจากออสเตรเลียไปทางตะวันออก 1,500 กิโลเมตร เหตุจลาจลเกิดขึ้นโดยมีสาเหตุมาจากการที่รัฐสภาฝรั่งเศสผ่านความเห็นชอบร่างกฎหมายเมื่อวันอังคาร อนุญาตให้ชาวฝรั่งเศสที่อาศัยอยู่ในนิวแคลิโดเนียไม่ต่ำกว่า 10 ปี มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งระดับจังหวัด ทำให้บางคนกังวลว่าจะทำให้ชนพื้นเมืองมีสิทธิมีเสียงลดลง กลุ่มซีซีเอที (CCAT) ได้ชักชวนคนออกมาชุมนุมประท้วง และกลายเป็นเหตุจลาจล
ฝรั่งเศสประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในนิวแคลิโดเนีย มีผลตั้งแต่เวลา 05:00 น.วันพุธตามเวลาท้องถิ่น ตรงกับเวลา 01:00 น.วันเดียวกันตามเวลาไทย ทำให้ทางการนิวแคลิโดเนียสามารถห้ามการชุมนุมและการเดินทางของประชาชน นายหลุยส์ เลอ ฟรองซ์ ข้าหลวงใหญ่ฝรั่งเศสเผยว่า กองทัพกำลังดูแลท่าอากาศยาน 2 แห่ง และท่าเรือ 1 แห่ง มีการกักบริเวณผู้ยุยงให้คนก่อจลาจลอย่างน้อย 4 คน สารวัตรทหารใน 3 เทศบาลต้องรับมือกับผู้ก่อจลาจลประมาณ 5,000 คน ในจำนวนนี้ 3,000-4,000 คนอยู่ในกรุงนูเมอาที่เป็นเมืองหลวง มีผู้ถูกจับกุมประมาณ 200 คน สารวัตรทหารและตำรวจได้รับบาดเจ็บ 64 นาย นอกจากนี้การที่ผู้ชุมนุมตั้งสิ่งกีดขวางตามท้องถนนกำลังเป็นอุปสรรคต่อการลำเลียงอาหารและยาให้แก่ประชาชน.-814.-สำนักข่าวไทย