กรุงเทพฯ, อยุธยา 15 ส.ค.-กรณีลักพาตัวและอุ้มฆ่า “น้องพลอย” เป็นกรณีศึกษาล่าสุดที่กรรมการสิทธิมนุษยชนชี้ช่องโหว่กฎหมาย แม้จะให้แจ้งความคนหาย โดยไม่ต้องรอให้ครบ 24 ชั่วโมง แต่ในทางปฏิบัติเจ้าหน้าที่มักมองเป็นคดีไม่ร้ายแรง และทิ้งเวลาไว้นาน จนหาเบาะแสได้ยาก หลายคนต้องกลายเป็นบุคคลสูญหาย
เป็นเวลากว่า 3 ปี ที่นางพัชรี ปั้นทอง ออกตามหา น.ส.พลอยนรินทร์ ผลิผล หรือพลอย ลูกสาวซึ่งหายตัวไปตั้งแต่กลางปี 57 แม้จะมีหลักฐานและเบาะแสที่รู้ว่าใครเป็นผู้พาตัวลูกสาวไป แต่ก็ยังตามตัวไม่พบ จึงเข้าแจ้งความที่ สภ.ท่าเรือ พระนครศรีอยุธยา แต่ถูกตั้งคำถามว่าลูกสาวอาจหนีไปกับเพื่อนชายคนสนิทหรือไม่ จึงได้เข้าขอความช่วยเหลือไปยังหลายหน่วยงาน เพราะคดีไม่มีความคืบหน้า กระทั่งตัดสินใจเข้าร้องเรียนที่ทำเนียบรัฐบาลเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา ก่อนที่ตำรวจจะพบเบาะแสว่า ลูกสาวของเธอถูกฆ่าและเผานั่งยางในพื้นที่ จ.สระบุรี โดยมีอดีตทหารยศสิบเอก ซึ่งเป็นเพื่อนชายคนสนิทเป็นผู้ลงมือ
นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ระบุว่าเมื่อเกิดกรณีบุคคลสูญหายและเข้าแจ้งความ ญาติของเหยื่อมักพบปัญหาจากการตั้งประเด็นของการหายตัวไปในเรื่องที่ไม่ร้ายแรง เช่น การหลบหนีเอง หรือมีปัญหาเรื่องชู้สาว ซึ่งคดีคนหายถือเป็นคดีที่ต้องรีบช่วยเหลือและต้องให้ความสำคัญกับช่วงแรกหลังหายตัวไป เพราะเหยื่อยังมีโอกาสรอดชีวิต และการทิ้งช่วงให้ผ่านไปนานจะทำให้การหาเบาะแสหรือแม้แต่การระบุตัวผู้ก่อเหตุเป็นไปได้ยาก
ขณะที่นักกฎหมายให้ความเห็นว่า คดีนี้ถือเป็นอีกตัวอย่างการร้องขอความเป็นธรรมจากครอบครัวผู้ตกเป็นเหยื่อในคดีหลักพาตัว หากให้ความสำคัญตั้งแต่ชั้นเริ่มต้น คือ การรับแจ้งความ และเร่งติดตามหาเบาะแสทันทีหลังเกิดเหตุ อาจทำให้การดำเนินคดีและกระบวนการยุติธรรมเดินหน้าไปได้เร็วขึ้น จนนำไปสู่การจับกุมคนร้าย และหากผู้ต้องหามีตำแหน่งในราชการ ตำรวจยิ่งมักถูกตั้งคำถามจากสังคมหากคดีล่าช้า
ข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลคนหาย มูลนิธิกระจกเงา พบว่า ตั้งแต่ปี 46-ปี 60 มีจำนวนคนหายทั้งหมดกว่า 6,000 คน และเป็นบุคคลที่สูญหายโดยถูกลักพาตัวกว่า 60 คน แม้กฎหมายจะเปิดช่องให้แจ้งความเมื่อคนหายได้โดยไม่ต้องรอให้ครบ 24 ชั่วโมง แต่ในทางปฏิบัติยังมีครอบครัวของเหยื่ออีกจำนวนไม่น้อยที่ยังถูกตั้งคำถาม เหมือนกรณีของ น.ส.พลอย และต้องกลายเป็นบุคคลสาบสูญ ตามตัวไม่พบโดยไม่ทราบสาเหตุไม่ต่ำกว่า 600 คน.-สำนักข่าวไทย