อสมท 15 ส.ค.-แม้การเสียชีวิตของบุคคลในครอบครัวจะเป็นความสูญเสีย นำมาซึ่งความโศกเศร้าอันประเมินค่าไม่ได้ แต่กรณีคนในครอบครัว “หายตัวไป” นั้น อาจสร้างความเจ็บปวดได้ยิ่งกว่า เพราะเป็นบาดแผลฝังใจสมาชิกในบ้านที่ไม่อาจรับรู้ได้เลยว่าคนที่พวกเขารัก “เป็น” หรือ “ตาย” อย่างไร
ข้อมูลจาก “ศูนย์บริหารจัดการคนหายและศพนิรนาม” สายด่วน 1191 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ พบสถิติปี 2557 มีการแจ้งความบุคคลหายจากทั่วประเทศรวม 405 คน สืบหาเบาะแสตามหาจนเจอเพียง 276 คน
ใกล้เคียงกับข้อมูลศูนย์ข้อมูลคนหายเพื่อการต่อต้านการค้ามนุษย์ มูลนิธิกระจกเงา มีการแจ้งคนหายที่ 345 คน เป็นเพศชาย 112 คน เพศหญิง 233 คน เฉลี่ยในปีนั้นมีคนหายราว 1 คน/วัน
แต่ปีต่อมา 2558 สถิติคนหาย…น่าใจหาย เพราะตัวเลขทะลุไปถึง 1,657 คน แบ่งเป็นเพศชาย 718 คน เพศหญิง 939 คน เฉลี่ยมีคนหาย 4-5 คน/วัน ปี 2559 ลดลงมาอยู่ที่ 1,286 คน เพศชาย 606 คน เพศหญิง 680 คน กระทั่งปีนี้ 2560 ผ่านมาแค่ครึ่งปี สถิติคนหายอยู่ที่ 992 คน ชาย 514 คน หญิง 478 คน เฉลี่ยมีคนหาย 3-4 คน/วัน
นับรวมตั้งแต่มีการเก็บสถิติตั้งแต่ปี 2540 จนถึงกลางปี 2560 เกือบ 20 ปีที่ผ่านมา มีการแจ้งคนหายถึง 6,733 คน เป็นชาย 2,867 คน หญิง 3,866 คน หรือเฉลี่ยคนหาย 28 คน/1 เดือน เป็นเรื่องโชคดีที่พบคนหายแล้ว 3,890 คน คิดเป็น 64% ของคนหายทั้งหมดตลอด 20 ปี ยังต้องตามหาอยู่ 2,220 คน
หากเจาะลึกแยกย่อยไปถึง “ประเภทการหายตัวไป” พบว่า หายไปเพราะสมัครใจหรือหนีออกจากบ้านมีอยู่เกินครึ่งถึง 51.5% แต่บุคคลที่ติดต่อไม่ได้และหายตัวไป (23.8%) รวมกับการลักพาตัว (1%) และที่ยังไม่สามารถระบุสาเหตุได้ (9.7%) คิดเป็น 34.5% ซึ่งเป็นตัวเลขที่น่าห่วง เพราะไม่ทราบชะตากรรมเขาหรือเธอเหล่านั้นเลยว่าเป็นอย่างไรบ้าง
ทั้งนี้ “ลักษณะคนหาย” แบ่งได้เป็น 1) บุคคลสูญหาย 2) บุคคลนิรนาม ซึ่งไม่รู้ว่าตัวเองเป็นใคร ไม่มีหลักฐานทางราชการ กลับบ้านไม่ถูก ส่วนใหญ่มักเป็นผู้ป่วยในโรงพยาบาล และ 3) ศพนิรนาม (เสียชีวิตและไม่ทราบเอกลักษณ์บุคคล) ซึ่งสถิติ “ศพนิรนาม” ข้อมูลจากนิติเวช รพ.ตำรวจ ปี 2554 เฉพาะพื้นที่ กทม.รับแจ้งพบศพนิรนามจำนวน 257 ศพ ภายหลังทราบชื่อเพียง 12 ศพ ระบุไม่ได้ 245 ศพ
ขณะที่ (ร่าง) พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานและบังคับบุคคลให้สูญหาย พ.ศ. … ตอนนี้ผ่าน สนช.แล้ว อยู่ระหว่างการปรับปรุงให้เป็นมาตรฐานสากล และสอดคล้องกับมาตรา 77 ของรัฐธรรมนูญ
สาระสำคัญอยู่ที่การดำเนินคดีความคนหายนั้น จะไม่มีวันหมดอายุความ และการกำหนดระยะเวลาการหายตัวที่จะเรียกได้ว่าเป็น “บุคคลสาบสูญ” เมื่อติดตามผู้กระทำผิดมาได้ญาติคนหายมีสิทธิรับเงินชดเชยเยียวยา ส่วนบทลงโทษต่อผู้ก่อเหตุ จำคุก 5 ปีถึงตลอดชีวิต ปรับ 100,000-1 ล้านบาท หากเป็นเจ้าหน้าที่รัฐด้วยแล้ว ผู้บังคับบัญชาของผู้นั้นรับโทษด้วยกึ่งหนึ่ง ฐานละเลยต่อการกระทำผิดของผู้ใต้บังคับบัญชา.-สำนักข่าวไทย