กรุงเทพฯ 2 พ.ค.-“อิศเรส” ถามความถูกต้องและความเป็นธรรมของข้าราชการน้ำดี จากมรสุมในกระทรวงอุตสาหกรรม อยู่ตรงไหน ?
นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) โพสต์เฟสบุ๊กส่วนตัว (Isares Rattanadilok) ถามความถูกต้องและความเป็นธรรมของข้าราชการน้ำดีจากมรสุมในกระทรวงอุตสาหกรรมอยู่ตรงไหน ภายหลัง นายจุลพงษ์ ทวีศรี อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) ประกาศลาออกจากราชการ โดยระบุว่า กรณี เพลิงไหม้ โรงงาน ที่ทำผิดกฎหมาย พรบ.วัตถุอันตรายฯ และ พรบ.โรงงานฯ ที่ อ.บ้านค่าย จ.ระยอง และ ที่ อำเภอภาชี จ.อยุธยา ซ้ำซาก
มันคือ Accident หรือ มีใครจงใจเผาทำลายหลักฐาน วัตถุอันตรายฯ ที่เข้าสู่ระบบ และไม่ได้กำจัด ตาม กฎหมาย ? อำนาจหน้าที่ในการจัดการ กำกับดูแลโรงงาน ตาม พรบ.วัตถุอันตรายฯ ได้ มอบอำนาจไปสู่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในจังหวัดนั้นๆแล้ว ไม่ใช่ขึ้นอยู่กับ อธิบดีกรมโรงงาน ฯ ดังนั้นการที่ ท่านอธิบดีกรม
โรงงานฯ ไปช่วยให้คำปรึกษา แนะนำหน้างาน ในแต่ละกรณีจนเสมือนต้องกลายเป็นคนต้องมารับผิดชอบทั้งหมด ! มันถูกต้องและเป็นธรรมหรือไม่ กับข้าราชการดีๆ เช่นนี้ ?
หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะระดับนโยบาย ควรจะลากไปถึงต้นตอว่ายุคไหน ?สมัยไหน ? ปลัดฯและอธิบดีท่านไหน ที่มีการ ปล่อยปละละเลย(หรือเห็นด้วยฯ) ให้มีการอนุญาตให้ขนกากที่เป็นวัตถุอันตรายในระบบอิเล็กทรอนิกส์ของกองกากอุตสาหกรรม กรมโรงงานฯ ได้ ทั้งๆที่ควรจะโดนจัดการไปตั้งแต่ปีที่เจ้าหน้าที่ได้คีย์อนุญาตให้มีการขนกากอันตรายไปแล้ว
ส่วนกรณีกากแคดเมียม @จ.ตาก ก็สะท้อนปัญหา แบบมีเงื่อนงำ ในการจัดการกากวัตถุอันตราย ที่ควรจะให้เป็นไปตาม EIA ที่กำหนดไว้ แต่ก็มีการฝ่าฝืนทำผิดกฎหมาย
ล่าสุด! การที่ข้าราชการประจำ หลายหน่วยงานได้ลงพื้นที่ และพยายามแก้ไขปัญหาการขนกากแคดเมี่ยม
กลับมาที่ต้นทาง ให้ดีที่สุดก็สมควรที่จะได้รับกำลังใจและการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะจากผู้บังคับบัญชามากกว่า การจ้อง ดิสเครดิต หรือทำลายล้างกัน แม้จะมีเหตุไม่คาดคิดใดๆ
บทสรุป หน่วยงานทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งภาคการเมือง ทั้งที่ดูแลด้านนโยบาย และ ภาคนิติบัญญัติควรจะแสดงความเป็นมืออาชีพ ในการแก้ไขปัญหาที่ได้รับการมอบอำนาจเป็นลายลักษณ์อักษรไปแล้วจากส่วนกลาง
1) การมุ่งแก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุตั้งแต่ต้นตอ ที่ได้ก่อตัวเกิดขึ้นตั้งแต่ในอดีต เอาคนผิดมาลงโทษ รวมทั้งผู้ประกอบการสีดำที่ควรโดนลงโทษสูงสุด
ไม่ใช่มุ่งแต่กดดัน ลงโทษคนที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาและรับผิดชอบแทนในปัจจุบัน
ตลอดจนเร่งแก้ปัญหาปัจจุบัน ที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อม และ สุขภาพของประชาชน ให้ดีที่สุด
2) อย่าให้การหาผลประโยชน์ในการแต่งตั้งตำแหน่งข้าราชการประจำ ในตำแหน่งสำคัญๆ
ที่อาจจะมีการวิ่งเต้น หาผลประโยชน์ เราควรยึดหลักธรรมาภิบาล ด้วยการเลือก คนเก่ง และ คนดีในการดำรงตำแหน่งที่สำคัญ
“ท้ายนี้ ไม่ว่า การลาออกของท่านอธิบดี กรมโรงงานฯ จะมีผลสรุปอย่างไร ? ผมก็ได้แต่หวังว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ จะทำให้สังคม ที่เกี่ยวข้อง จะได้ตื่นตัว ด้วยการให้กำลังใจคนทำดี
และ ร่วมจับตามองใกล้ชิด ต่อคนที่เป็นต้นเหตุของ มะเร็งร้าย และวงจรอุบาทว์ของประเทศครับ” นายอิศเรศ กล่าว.-517-สำนักข่าวไทย