รัฐสภา 4 เม.ย. – “เบญจา” จี้นายกฯ สางปมเหมืองทองอัคราฯ พาดพิงอดีตนายกฯ ทำ สส.ลุกประท้วงวุ่น จนประธานที่ประชุมต้องสั่งให้เข้าเรื่อง อย่าเอ่ยชื่อคนนอก
การประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่ 32 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 2) ในญัตติการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญ ม.152 ซึ่งมีนายปดิพัทธ์ สันติภาดา รองประธานสภาผู้แทนราษฎรคนที่ 1 เป็นประธานการประชุม น.ส.เบญจา แสงจันทร์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายรัฐบาลถึงการจัดการเหมืองทองอัคราที่อนุญาโตตุลาการเลื่อนการชี้ขาดออกไปเป็นช่วงปลายเดือนมิถุนายน 2567 โดยตั้งข้อสงสัยถึงการยกผลประโยชน์จากขุมทรัพย์ทองคำให้แก่นายทุนต่างชาติ
น.ส เบญจา เริ่มอภิปรายด้วยการท้าวความถึงที่มาของเหมืองทองอัคราฯ เริ่มต้นมาจากการที่รัฐบาลในปี 2543 เปิดสัมปทานเหมืองแร่ทองคำชาตรีบริเวณรอยต่อ จ.พิจิตร จ.เพชรบูรณ์ และจ.พิษณุโลก โดยมีบริษัทคิงส์เกต คอนโซลิเดทเต็ด ลิมิเต็ด ของออสเตรเลีย ได้สัมปทาน และมอบหมายให้บริษัทอัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) ในฐานะบริษัทลูกดำเนินการ ซึ่งเหมืองทองดังกล่าวเปิดดำเนินการในปี 2544 ตรงกับรัฐบาลไทยรักไทย และนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดเหมืองเมื่อวันที่ 12 ธ.ค. 2544 และเริ่มขุดเหมืองในปีเดียวกันนั้น โดยยื่นขออาชญาบัตรสำรวจทองคำในปี 2546-2548 อีก 44 แปลง ขณะที่ชาวบ้านโดยรอบต้องประสบปัญหามลภาวะต่อสุขภาพ และสิ่งแวดล้อม
น.ส.เบญจา กล่าวว่า เมื่อเกิดเหตุการณ์รัฐประหาร 2549 เอกอัครราชทูตวิสามัญผู้มีอำนาจเต็มแห่งออสเตรเลียประจำประเทศไทย ได้หารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมขณะนั้นเพื่อขอสิทธิ์สำรวจ และได้รับประทานบัตรอีก 9 แปลง ผ่านไป 7 ปี เมื่อเกิดรัฐประหารปี 2557 ส่งผลให้เหมืองถูกปิด แต่ชาวบ้านยังคงทนไม่ได้จากมลภาวะ กรมอุตสาหกรรมพื้นฐานและการเหมืองแร่ สุ่มตรวจชาวบ้านที่อยู่บริเวณรอบเหมืองปนเปื้อน สารโลหะหนักและสารไซยาไนต์ในเลือดสูงกว่ามาตรฐาน
“เหมืองทองอัคราฯ ถูกสั่งให้ปิดเป็นเวลา 30 วันตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แร่ 2550 ซึ่งเท่ากับว่าสามารถใช้กฎหมายปกติได้ และไม่จำเป็นต้องใช้ ม.44 เป็นข้ออ้าง แต่เป็นเพราะพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรีอยากควบคุมนายทุนที่ใกล้ชิดกับรัฐบาลในอดีตที่มองว่าเป็นคู่ตรงข้ามกับตนเอง แต่เนื่องจากบริษัทคิงส์เกตฯ เป็นนายทุนต่างชาติจึงใช้วิธีเรียกคุยเจรจา สุดท้ายก็ตกลงกันไม่ได้ จึงใช้ข้ออ้างนี้ปิดเหมืองทอง ทำให้บริษัทคิงส์เกตฯ ยื่นเรื่องต่ออนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศให้ชดใช้ค่าเสียหายจากการปิดเหมืองทองดังกล่าว” น.ส.เบญจา กล่าว
นส.เบญจา กล่าวว่า ประชาชนอาจคิดว่าพล.อ.ประยุทธ์สั่งปิดเหมืองทองอัคราเพราะใส่ใจประชาชนและสิ่งแวดล้อม แต่เหมืองแร่ถ่านหินลิกไนต์ และโรงไฟฟ้าแม่เมาะที่มีข้อร้องเรียนเดียวกันกลับไม่เคยถูกสั่งปิด ทั้งยังแต่งตั้งผู้ที่เพิ่งลาออกจากคณะกรรมการอิสระของบริษัทอัคราฯ เพียง 12 วันมานั่งในตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการอุตสาหกรรมที่ผลักดันการสร้างเหมืองแร่โปแตชอย่างถูกกฎหมาย
ผ็สื่อข่าวรายงานว่า นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ สส.บัญชีรายชื่อ พรรครวมไทยสร้างชาติ ได้ลุกขึ้นประท้วงและขอให้อภิปรายรัฐบาลปัจจุบัน เนื่องจากเอ่ยชื่อพล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกที่ไม่สามารถเข้ามาชี้แจงได้ หากจะกล่าวถึงความหลังให้กล่าวพอประมาณ ทำให้นายปดิพัทธ์ กล่าวเตือนให้น.ส.เบญจาเข้าเรื่อง เนื่องจากใช้เวลาปูเรื่องค่อนข้างมาก และให้ใช้คำว่า ‘รัฐบาลชุดก่อน’ หรือ ‘นายกรัฐมนตรีคนก่อน’ แทนการเอ่ยชื่อโดยตรง
นส.เบญจา กล่าวว่าเมื่อมามาถึงตรงนี้ไม่แปลกใจ เมื่อรัฐบาลของพรรคเพื่อไทยยกตำแหน่งประธานคณะกรรมการแร่ฯ ให้นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน พรรครวมไทยสร้างชาติ ทั้งที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้เลย จึงทำให้เห็นว่าการที่พรรคเพื่อไทยเคยลั่นวาจาไว้ว่า “เมื่อไหร่ที่ พล.อ.ประยุทธ์หลุดอำนาจ พรรคเพื่อไทยจะยื่นต่อองค์กรอิสระเพื่อดำเนินคดี…” นั้นเป็นความจริงหรือแค่เทคนิคที่ใช้ในการหาเสียง
นส.เบญจา กล่าวว่า กระบวนการของอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเสร็จสิ้นไปแล้วตั้งแต่วันที่ 12 ก.พ. 2563 แต่ 4 ปีผ่านไปแล้ว กลับยังไม่มีคำชี้ขาด ในขณะที่ข้อมูลจากคณะตัวแทนรัฐบาลไทยในคดีนี้แจ้งว่า บริษัทคิงส์เกตฯ มีโอกาสแพ้คดีสูงมาก เนื่องจากเอกสารที่ใช้เป็นรายงานที่ตรวจพบว่ามีการรั่วไหลของสารพิษจากบ่อกักเก็บกากแร่ที่หนึ่งของเหมืองทองคำ ทำให้การตกลงชี้ขาดเลื่อนออกไป ซึ่งระหว่างนั้นภายหลังจากที่นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และได้เปลี่ยนชุดทำงาน ตัดข้อมูลจากพยานหลักฐานทั้งหมดออกไป ทั้งยังพบว่ามีความพยายามเจรจายกทรัพย์สินประเทศให้กับกระบวนการเอื้อประโยชน์แก่นายทุนครั้งใหญ่ จึงอยากถามว่าถึงเวลาแล้วหรือยังที่รัฐบาลชุดนี้จะจัดการ
“ผ่านมา 212 วัน เศรษฐา มีอำนาจหรือยัง หรือถูกใครขี่คออยู่ และจะเอาอย่างไรกับการที่อดีตนายกฯ ท่านก่อน และอดีตรมว.อุตสาหกรรม ซึ่งวันนี้เป็นรัฐมนตรีภายใต้รัฐบาลของท่าน มีพฤติกรรมการเจรจาประเคนผลประโยชน์ให้กลุ่มทุนต่างชาติเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ในชาติ และรัฐบาลนี้จะทำเพื่อใคร หรือเพื่อนายทุน ดังนั้น อย่าปล่อยให้เรื่องที่พรรคเพื่อไทยขึงขังในวันนั้น ต้องจบลงอย่างปาหี่ และเป็นเพียงการใช้เทคนิคหาเสียงเท่านั้น อย่าปล่อยเรื่องมหากาพย์ให้เป็นมวยล้มต้นคนดู ” นส.เบญจา กล่าว
ผู้สื่อข่างรายงานว่า ระหว่างการอภิปราย สส.จากพรรคร่วมรัฐบาล ลุกขึ้นประท้วง อาทิ น.ส.นุชนาถ จารุวงษ์เสถียร สส.ศีรษะเกษ พรรคเพื่อไทย ที่ระบุว่า ต้องมีความเป็นธรรมด้วยการใช้คำพูดว่า มีผู้ขี่คอท่านนายกฯ หากมีอะไรเด็ด ๆ ให้พูดออกมาเลย นายอัครเดช วงษ์พิทักษ์โรจน์ สส.ราชบุรี พรรครวมไทยสร้างชาติ ประท้วงว่า ประธานต้องวางตัวเป็นกลาง ตักเตือนผู้อภิปรายให้เข้าประเด็น และไม่ควรพาดพิงบุคคลภายนอก.-312.-สำนักข่าวไทย