กรุงเทพฯ8 ส.ค. – ผู้ผลิตน้ำตาลมองน้ำท่วมอีสานส่งผลอ้อยเพิ่มขึ้นในปีหน้า ชี้เสรีน้ำตาลปีนี้เกิดขึ้นยาก และหากเกิดขึ้นรายเล็กแข่งขันลำบาก
นายชลัช ชินธรรมมิตร์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.น้ำตาลขอนแก่น (KSL) คาดว่าปริมาณอ้อยปีหน้าจะเพิ่มเป็นกว่า 100.ล้านตันหลังเกิดปัญหาน้ำท่วมในภาคอีสานทำให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น แต่ปัญหาที่อาจตามมาคือค่าความหวานอาจลดน้อยลงโดยในปีนี้หรือฤดูการผลิตปี 59/60 ได้รับผลกระทบภัยแล้ง อ้อยเข้าหีบ 92.95 ล้านตันอ้อย แต่สามารถผลิตน้ำตาลได้มากขึ้นเป็น 10.03 ล้านตัน เนื่องจากคุณภาพอ้อยที่ดีขึ้น
ส่วนราคาน้ำตาลปีหน้าคาดว่าจะอ่อนตัวลงเพราะหลังจากราคาปรับตัวสูงขึ้นในปีนี้ก็จะจูงใจให้เกิดการผลิตมากขึ้นราคาน่าจะอยู่ที่ประมาณ16-17 เซนต์สหรัฐ/ปอนด์ จากปีนี้ที่เห็นในราคา20 เซนต์/ปอนด์. ในขณะที่หากบาทแข็งค่าต่อเนื่องก็จะมีผลต่อราคาอ้อยต่อตันให้ลดลงได้เพราะไทยส่งออกร้อยละ75 ของกำลังผลิต
นายชลัช กล่าวถึงการที่รัฐบาลมีนโยบายจะลอยตัวราคาน้ำตาลในประเทศ ให้เป็นไปการเปิดเสรีธุรกิจน้ำตาลภายในวันที่1 ธ.ค.2560 เชื่อว่าราคาน้ำตาลในประเทศจะไม่สูงกว่าในปัจจุบันและจะไม่ก่อให้เกิดปัญหาการขาดแคลน แต่จนถึงขณะนี้ภาครัฐยังไม่ประกาศขั้นตอนที่ชัดเจนก็เชื่อว่าอาจจะทำให้การลอยตัวปีนี้ทำได้ยาก ในขณะที่การขึ้นงวดของโควตา ก. ซึ่งเป็นการบริโภคในประเทศ โดยปกติจะอยู่ในระดับราว 2.5-2.6 ล้านตัน/ปี ยังดำเนินการไม่เสร็จสิ้น
นอกจากนี้ สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือผู้ประกอบการโรงงานน้ำตาลรายเล็กอาจจะล่มสลายลงเพราะไม่สามารถแข่งขันได้ โดยปัจจุบันกลุ่มผู้ผลิตรายใหญ่ในประเทศจะมีส่วนแบ่งตลาดรวมประมาณกว่า 60% ส่วนที่เหลือเป็นกลุ่มโรงน้ำตาลเดี่ยว ๆ มีประมาณ 30% โดยรายใหญ่ประกอบด้วยกลุ่มมิตรผล ส่วนแบ่งตลาด 18-20% ,ไทยรุ่งเรือง 16-18% , กลุ่มบมจ.เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น (KTIS) 9% ,KSL 8% ,วังขนาย 6-7% และกลุ่มบริษัท อุตสาหกรรมโคราช จำกัด 5-6%
“ระบบเก่าเกื้อหนุนให้โรงงานเล็ก โรงงานใหญ่อยู่กันได้โดยมีกติกากลาง จัดสรร แต่ถ้าเสรีหมดทุกอย่างเชื่อว่าโรงงานเล็ก ๆ จะลำบาก แบรนด์ก็ไม่แข็งแรง การแย่งตลาดเข้าโรงงานน้ำดื่ม โรงงานขนมก็ทำลำบาก จากเดิมโรงงานเหล่านี้ต้องซื้อตามสัดส่วนโควต้า ก.นี้ ซึ่งปีหน้าเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของอุตสาหกรรมอ้อยและน้ำตาล ระบบใหม่ที่อยากจะมีการปรับปรุงตรงนี้ คือการกำหนดอนาคตของอุตสาหกรรมว่าเราจะโตต่อ หรือเปลี่ยนจากผู้ผลิตเป็นผู้นำเข้ามาทานเหมือนอินโดนีเซียหรือไม่”นายชลัช กล่าว
สำหรับปัจจุบัน ระบบอ้อยและน้ำตาลทราย ถูกจัดสรรในรูปแบบระบบแบ่งปันผลประโยชน์ระหว่างชาวไร่อ้อยและโรงงานน้ำตาลในสัดส่วน 70:30 ซึ่งเป็นผลประโยชน์สุทธิที่จะได้รับจากการจำหน่ายน้ำตาลทรายและผลพลอยได้ ในขณะที่ชาวไร่อ้อยเรียกร้องให้นำเรื่องการนำโมลาสไปผลิตเอทานอลและการผลิตไฟฟ้าจากสิ่งเหลือใช้ในโรงงานมาคำนวณผลตอบแทนเพิ่มกับระบบด้วย ซึ่งนายนายชลัชไม่เห็นด้วยโดยมองว่า สิ่งเหล่านี้เกิดจากการลงทุนของโรงงานและที่ผ่านมาหลังจากเกิดการผลิตพลังงานจากโรงงานน้ำตาลก็ทำให้โมลาสเป็นของมีค่า ราคาขยับจากตันละ 1,000 บาทเป็น 4,000 บาท และส่งผลให้ชาวไร่ได้ผลตอบแทนราคาอ้อยดีขึ้นราว90-120 บาท/ตัน
ล่าสุดรัฐบาลอยู่ระหว่างแก้ไขพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย พ.ศ. 2527 เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่อุตสาหกรรม และลดข้อพิพาทจากทางประเทศบราซิล หลังกล่าวหาว่าไทยมีการอุดหนุนการส่งออกน้ำตาลทรายและอุดหนุนราคาภายในประเทศ ทำให้โครงสร้างราคาบิดเบือน
โดยสาระสำคัญของร่างกฎหมายฉบับปรับปรุงดังกล่าว ได้แก่ การลดบทบาทการกำกับดูแลจากหน่วยงานภาครัฐ การยกเลิกโควตาน้ำตาลทรายอันนำไปสู่การลอยตัวราคา การยกเลิกการอุดหนุน 160 บาท ให้แก่ผู้เพาะปลูกอ้อย และการเพิ่มนิยามความหมายของ อ้อยให้สามารถนำไปทำสินค้าประเภทอื่นได้ เป็นต้น โดยรัฐบาลคาดหวังจะให้กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ได้ทันภายในวันที่ 1 ธ.ค.60 -สำนักข่าวไทย