กรุงเทพฯ 15 มี.ค. – สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ชี้การเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่ล่าช้า ฉุดการเติบโตอุตสาหกรรมก่อสร้าง วัสดุก่อสร้าง-รับเหมาสะดุด คาดปีหน้าจะเติบโตได้ดี แต่ยังห่วงเหล็กจีนทะลักไทย
นายวิกรม วัชระคุปต์ ประธานคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในงานสัมนา Green Construction toward ESG Achievement” จัดโดยคลัสเตอร์วัสดุก่อสร้าง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ว่าการขยายตัวของอุตสาหกรรมก่อสร้างในปี 2567 มีแนวโน้มขยายตัวเพียงเล็กน้อย ประมาณ 2% มูลค่าประมาณ 1.4 ล้านล้านบาท โดยเป็นการขยายตัวจากการก่อสร้างของภาครัฐ 2% โดยส่วนใหญ่เป็นการก่อสร้างโครงการต่อเนื่องจากอดีต เช่น โครงการรถไฟฟ้าความเร็วสูง โครงการรถไฟทางคู่ โครงการรถไฟฟ้า โครงการมอเตร์เวย์ และการก่อสร้างในภาคเอกชน ขยายตัว 3% โดยเป็นโครงการก่อสร้างที่อยู่อาศัย อาคารสำนักงาน พื้นที่ค้าปลีก โรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงการปรับปรุงซ่อมแซมโรงแรมที่สอดคล้องกับการขยายตัวในภาคการท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ส่งผลโดยตรงต่อแนวโน้มความต้องการใช้วัสดุก่อสร้าง ซึ่งคาดการร์ว่า ปี 2567-2568 ความต้องการจะเติบโตขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 3.5-4 ต่อปี อย่างไรก็ตามกลุ่มวัสดุสร้างประสบปัญหาความท้าทายจากการชะลอตัวของการลงทุนในภาครัฐ เนื่องจากความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณรัฐ รวมถึงการที่สินค้าวัสดุก่อสร้างจากประเทศจีน โดยเฉพาะเหล็กที่เข้ามาตีตลาดไทย กระทบผู้ผลิตเหล็กของไทย เนื่องจากปัญหาวิกฤตอสังหาฯในจีน ทำให้การลงทุนก่อสร้างในสจีนชะงัก จึงมีเหล็กเหลือจำนวนมากต้องส่งออกไปยังประเทศอื่น ๆ ที่สำคัญเหล็กที่นำเข้าจากจีนมีราคาต่ำกว่าเหล็กที่ผลิตในประเทศ จึงทำให้ผู้รับเหมาเลือกใช้เหล็กจากจีนแทนเพื่อลดต้นทุน
“งบประมาณรัฐฯ ส่วนใหญ่เป็นงบลงทุนซึ่งเกี่ยวข้องกับการก่อสร้าง ความล่าช้าของการเบิกจ่ายจึงทำให้การก่อสร้างในโครงการต่างๆชะลอตัว ไม่เกิดการลงทุนโครงการใหม่ ๆ และไม่เฉพาะโครงการของภาครัฐ โครงการของภาคเอกชนก็รอดูทิศทางความชัดเจนเช่นกัน แต่หลังจากเบิกจ่ายงบฯได้แล้ว ก็คาดหวังว่าจะทำให้โครงการต่างๆที่ชะงักกลับมาดำเนินการต่อได้ ซึ่งหวังว่าจะเกิดประโยชน์ทั้งเซกเตอร์ แม้ว่าเวลาจะเหลือน้อยก็ตาม อย่างไรก็ตาม ในส่วนของวัสดุก่อสร้างในปีนี้ภาพรวมเรียกว่าไม่หวือหวา อยู่ในภาวะประคองตัวจากปีที่แล้ว เนื่องจากความล่าช้าของการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐ แต่คาดว่าตั้งแต่ปีหน้าเป็นต้นไปจะมีการเติบโตขึ้น หลัก ๆ คือนโยบายภาครัฐที่ต้องการกระจายความเจริญสู่ชนบทมากขึ้น การกระตุ้นเรื่องการท่องเที่ยว ซอร์ฟเพาเวอร์ต่าง ๆ ซึ่งจะทำให้มีการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งจะทำให้เติบโตมากกว่าที่เห็น ” นายวิกรม กล่าว
ส่วนเรื่อง Green Construction นับว่าเป็นโอกาสในระยะยาวของภาคอุตสาหกรรม เพราะทั่วโลกมุ่งไปในทางนี้ เนื่องจากมาตรการ CBAM ซึ่งในส่วนของกลุ่มผู้ผลิตวัสดุก่อสร้างได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มาสักระยะแล้ว อย่างกลุ่มซีเมนต์ ที่ดำเนินการไปแล้ว กลุ่มเหล็กที่อยู่ระหว่างดำเนินการเรื่องคาร์บอนฟุ๊ตปรินท์. -517-สำนักข่าวไทย