กรุงเทพฯ 23 ก.พ. – กทม.เปิดบ้านต้อนรับนายกรัฐมนตรี ประชุมขับเคลื่อนพัฒนากรุงเทพฯ เร่งแก้ไขหลายปัญหาของเมืองทั้ง การจราจร-ฝุ่น PM2.5 – แท็กซี่, วินมอไซค์, ไกด์เถื่อน อย่างจริงจัง
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ต้อนรับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ในโอกาสเดินทางมาเยือนศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร อย่างเป็นทางการครั้งแรก พร้อมทั้งประชุมติดตามเร่งรัดพัฒนากรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และมีตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย คณะผู้บริหาร กทม., กระทรวงมหาดไทย, กระทรวงคมนาคม, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ
ผู้ว่าฯ กทม.ได้รายงานสถานการณ์ใน กทม.ด้านต่าง ๆ และการติดตามความก้าวหน้าในการเร่งรัดพัฒนา กทม. ใน 2 กลุ่มประเด็น คือ การจัดการสาธารณูปโภคพื้นฐานและการจัดการด้านสังคมและเศรษฐกิจ โดยยกปัญหาจุดฝืดจราจรและวินัยจราจรของทั้งรถส่วนบุคคล และรถสาธารณะ โดยกทม.มีแนวทางการแก้ไข คือ การนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้ในการบังคับใช้กฎหมาย โดย กทม.จะเชื่อมโยงเครื่องมือตรวจจับการฝ่าฝืนกฎหมาย อาทิ การใช้ระบบกล้องโทรทัศน์วงจรปิดที่สามารถตรวจจับการฝ่าฝืนกฎหมายได้ หรือการใช้ข้อมูล input จาก GPS รถเพื่อตรวจสอบการจอดรถผิดกฎหมาย แล้วนำข้อมูลส่งมอบให้ตำรวจออกใบสั่งจับกุมผู้ฝ่าฝืน และเมื่อไม่จ่ายค่าปรับจะส่งข้อมูลเพื่อให้กรมการขนส่งทางบกห้ามต่อทะเบียนรถ ซึ่งในส่วนของปัญหาด้านกายภาพส่วนใหญ่เกิดจากการก่อสร้างสาธารณูปโภค ส่งผลต่อพื้นผิวถนนทำให้เกิดผลกระทบด้านการจราจรในพื้นที่ แนวทางการแก้ไข คือ ประสานหน่วยงานเจ้าของโครงการที่มีการก่อสร้าง กำกับและดำเนินการก่อสร้างในระยะเวลาที่เหมาะสม พร้อมทั้งตรวจสอบและวางแนวทางในการคืนผิวจราจรให้ประชาชนเร็วที่สุด และการขยายช่องจราจรหรือปรับปรุงพื้นผิวจราจรในบริเวณที่มีคอขวดเพื่อลดปัญหาวงเลี้ยวหรือทางแคบ
ผู้ว่าฯ กทม.ยังกล่าวว่าที่ผ่านมามีการประสานกับตำรวจจราจร ในการบริหารจัดการและการควบคุมการจราจรใน กทม. เช่น จังหวะสัญญาณไฟจราจรที่ไม่สอดคล้องกับปริมาณจราจร โดยได้ปรับรอบสัญญาณไฟจราจรให้มีความเหมาะสมในแต่ละจุด พร้อมทั้งนำเทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการจราจรเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความสามารถในการรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็ว การใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการบริหารจัดการจราจร ITMS (Intelligent Traffic Management System) เพื่อตรวจสอบและปรับปรุงจังหวะสัญญาณไฟตามสภาพจราจรและปัญหาที่เกิดขึ้น รวมถึงการใช้ระบบสัญญาณไฟจราจรแบบ Adaptive Signaling เพื่อปรับตัวจากระบบอัตโนมัติตามการจราจรในแต่ละช่วงเวลา รวมทั้งการเพิ่มโครงข่ายรถโดยสารสาธารณะในพื้นที่ที่ยังไม่ครอบคลุม และการปรับปรุงศาลาที่พักผู้โดยสาร และป้ายรถประจำทาง เพื่อให้ผู้เดินทางมีข้อมูลรถประจำทางที่อัปเดตตลอดเวลา ส่งเสริมระบบขนส่งมวลชนที่มีประสิทธิภาพช่วยให้ประชาชนมีทางเลือกการเดินทาง
การแก้ไขปัญหารถแท็กซี่ รถสามล้อ และมัคคุเทศก์ผี ผู้ว่าฯ กทม.เผยจากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานเขตในพื้นที่ และข้อมูลการร้องเรียนของตำรวจท่องเที่ยว พบจุดที่มีแท็กซี่จอดเรียกผู้โดยสารอยู่ โดยจะมีย่านใหญ่ๆ ในท้องที่สถานีตำรวจนครบาลชนะสงคราม ย่านข้าวสาร 19 จุด นอกจากนี้ ศูนย์คุ้มครองผู้โดยสารและรับเรื่องร้องเรียน (โทร.1584) กรมการขนส่งทางบก ได้รับการร้องเรียนจากนักท่องเที่ยวและผู้ใช้บริการรถสาธารณะเกี่ยวกับการให้บริการที่ไม่เป็นธรรม อาทิ ปฏิเสธไม่รับผู้โดยสาร ไม่ใช้มาตรวัดค่าโดยสาร แสดงกิริยาวาจาไม่สุภาพ ขับรถประมาทน่าหวาดเสียว ไม่ส่งผู้โดยสารตามสถานที่ที่ตกลงกัน โดยพื้นที่ที่ได้รับการร้องเรียนมากที่สุด ได้แก่ 1.หน้าห้างสรรพสินค้า เช่น เซ็นทรัลเวิลด์ สยามพารากอน แพลททินัมไอคอนสยาม มาบุญครอง เอสพลานาด และฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต 2.บริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และท่าอากาศยานดอนเมือง 3.บริเวณสถานีขนส่งผู้โดยสาร เช่น จตุจักร (หมอชิต) เอกมัย และสถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพฯ ถนนบรมราชชนนี (ตลิ่งชัน) 4.สถานที่ท่องเที่ยวสำคัญ เช่น วัดพระแก้ว สนามหลวง ย่านทองหล่อ อโศก และซอยนานา แนวทางการแก้ไขปัญหา กรุงเทพมหานคร ได้รับความร่วมมือจากตำรวจท่องเที่ยว กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา และกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) โดยแนวทางการแก้ไข บูรณาการร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้นจริงจัง นำมาตรการการตัดคะแนนความประพฤติของผู้ขับรถ และการพักใช้เพิกถอนใบอนุญาตขับรถมาใช้อย่างเข้มข้น เพื่อควบคุมพฤติกรรมผู้ขับรถ ขอความร่วมมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายในภารกิจที่รับผิดชอบอย่างเข้มงวด
เรื่องหาบเร่แผงลอย ปัจจุบัน กทม.มีผู้ค้า 20,012 ราย ในจุดผ่อนผัน 86 จุด 5,419 ราย จุดทบทวน 9 จุด 629 ราย นอกจุดผ่อนผัน 621 จุด 13,964 ราย มีพื้นที่ของหน่วยงานราชการหลายแห่งที่อยู่ใกล้พื้นที่ชุมชน ที่มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นพื้นที่สาธารณะ เช่น Hawker center ลานกีฬา สวนสาธารณะ กทม. ได้มีตัวอย่างความร่วมมือกับหลายหน่วยงานและได้ผลตอบรับไปในทิศทางที่เป็นบวก เช่น ร่วมมือกับ รฟม. บริเวณหน้าห้าง Union mall เพื่อจัดหาพื้นที่ให้ผู้ค้าหาบเร่แผงลอย เป็นต้น
ขณะที่อีกเรื่องสำคัญ คือ การป้องกันและแก้ไขปัญหาบุหรี่ไฟฟ้าในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ผู้ว่าฯ กทม.เผย สถานการณ์ปัจจุบัน ประชากรไทยสูบบุหรี่ไฟฟ้า 78,742 คน ชาย 71,456 คน คิดเป็น 90.8% หญิง 7,256 คน คิดเป็น 9.2% เด็กและเยาวชน อายุ 15-24 ปี 24,050 คน คิดเป็น 30.5% กรุงเทพมหานครมีประชากรที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 47,753 คน คิดเป็น 60.7% ของประเทศไทย แนวทางการแก้ไขปัญหา โดยปราบปรามการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ภายในรัศมี 200 เมตร จากสถานศึกษาสังกัดกรุงเทพมหานคร ต้องไม่มีการจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า สื่อสารสาธารณะเพิ่มสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับโทษพิษภัยและอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า สร้างชุดความรู้สื่อประชาสัมพันธ์ที่เหมาะสมกับเด็กและเยาวชน
จากนั้น นายกรัฐมนตรีได้ตรวจเยี่ยมแถวเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานและส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง กว่า 200 นาย ประกอบด้วย กองบัญชาการตำรวจนครบาล กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว กรมการขนส่งทางบก สำนักงานคุ้มครองผู้บริโภค สำนักเทศกิจ และสำนักอนามัย พร้อมทั้งปล่อยขบวนรถออกปฏิบัติการ บริเวณลานคนเมือง
หลังการปล่อยแถว นายกรัฐมนตรี ได้ให้สัมภาษณ์ กล่าวว่า ยินดีที่มาเยี่ยม กทม.วันนี้ โดย กทม.เป็นเมืองหลวง เป็นจุดหมายปลายทางติดอันดับของนักท่องเที่ยว ซึ่ง กทม.ก็มีทีมงาน มีผู้ว่าฯ ที่ตั้งใจ ทำงานหลายอย่าง ซึ่งเท่าที่ฟังแผนงานเร่งรัดในวันนี้ ก็อยากให้มีการสื่อสารออกไปมากขึ้น ให้ประชาชนทราบว่า กทม.กำลังทำอะไรและจะทำอะไร เพื่อให้มีความร่วมมือ ต่อไปก็อยากให้ รัฐบาลและ กทม.ทำงานแน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
เรื่องฝุ่นที่ กทม.รายงานมาว่า ได้ประกาศ WFH ไปสัปดาห์ที่แล้วก็เห็นว่าช่วยลดฝุ่นจากควันรถไฟได้บ้าง ต่อไปหากมีการประสานกับรัฐด้วยเราก็อาจจะประกาศให้หลายหน่วยงาน WFH ไปพร้อมกันได้ ขณะที่ผู้สื่อข่าวถามว่า ปชช.มองว่าฝุ่นเป็นปัญหาซ้ำซาก แสดงว่ายังเข้มงวดไม่มากพอหรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ก็อยากให้ความเป็นธรรมเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้วย ยืนยันว่าทุกหน่วยงานพยายามทำเต็มที่ ผู้ว่าฯ กทม.ย้ำได้ดำเนินการเข้มข้น ทั้งหมดตามอำนาจที่มี เรื่องนี้ต้องอิงวิทยาศาสตร์แก้ด้วย อย่างที่ผ่านมาก็เห็นว่าเป็นฝุ่นจากข้างนอกเข้ามา เรื่องท่าเรือ คลองเตย ที่มีเสนอให้ย้าย เพื่อแก้ปัญหาฝุ่นนั้น ก็อยู่ในแผนวาระแห่งชาติเรื่องฝุ่น ตั้งแต่ปี 62 แล้วก็ยังอยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบรอบด้าน
ส่วนปัญหารถติดใน กทม.รัฐบาลจะทำให้เห็นแก้ได้ชัดเจนอย่างไร นายเศรษฐา กล่าวว่า ปัจจุบันนี้ ไม่ปฏิเสธว่ามีปัญหาจราจร รัฐบาลจะแก้ปัญหาได้ดีกว่านี้ไม่ว่าจะเป็นการนำเทคโนโลยีมาใช้ การปรับปรุงระบบขนส่งสาธารณะ โดยผู้ว่าฯ กทม.กล่าวเพิ่มเติมว่าหัวใจสำคัญในการแก้ปัญหารถติด ไม่ใช่การทำถนนเพิ่ม แต่คือการทำขนส่งสาธารณะให้ดีขึ้น และมีระบบฟีดเดอร์ ส่งคนให้เข้าถึงระบบสาธารณะ
เมื่อถามว่าใน 4 ปี นายกฯ หวังเห็น กทม.เป็นอย่างไร นายกฯ กล่าวว่า มีหลายเรื่องมากที่ กทม.ก็ทำอยู่แล้ว เพราะ กทม.เป็นเมืองที่มีความสำคัญกับประเทศ ก็หวัง ให้มีความสะอาด ปลอดภัย แก้ปัญหาการจราจร PM2.5 เศรษฐกิจปากท้อง ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น ให้ กทม.เป็นเมืองที่น่าอยู่ โดยนายกฯ ย้ำว่า รัฐบาลและ กทม.ทำงานร่วมกันเป็นอย่างดี มีอะไรก็ยกหูสายตรงได้ตลอด และไม่เคยมีปัญหากัน.-417 -สำนักข่าวไทย