กรุงเทพฯ 19 ก.พ.-สภาพัฒน์เผยจีดีพีปี 66 เติบโตร้อยละ 1.9 คาดเศรษฐกิจปี 67 ขยายตัวร้อยละ 2.2-3.2 แนะ กนง. ลดส่วนต่างดอกเบี้ยช่วยเหลือเอสเอ็มอี ภาคครัวเรือน เป็นห่วงภาคอุตสาหกรรมไม่โตตามการส่งออก กระทุ้งหน่วยงานรัฐเร่งเบิกจ่ายงบปี 67
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยว่า ตัวเลข GDP ไตรมาส 4/66 ขยายตัวร้อยละ 1.7 โตต่อเนื่องจาก (GDP) ไตรมาส 3/66 ขยายตัวร้อยละ 1.5 ส่งผลให้เศรษฐกิจทั้งปี 66 ขยายตัวร้อยละ 1.9 จากเดิมสภาพัฒน์คาดการณ์จีดีพีในปี 66 ขยายตัวร้อยละ 2.5 ขณะที่การส่งออกเริ่มขยายตัวร้อยละ 3.4 นับว่าเติบโตในรอบ 5 ไตรมาส โดยกระทรวงการคลังเผยตัวเลขจีดีพีปี 66 ขยายตัวเพียงร้อยละ 1.8 คาดการณ์จีดีพีปี 67 เติบโตร้อยละ 2.8 ส่วน กนง.คาดการณ์จีดีพีปี 67 ขยายตัวร้อยละ 2.5-3
สภาพัฒน์ คาดการณ์เศรษกิจในปี 67 ขยายตัวร้อยละ 2.2-3.2 อัตราเงินเฟ้อร้อยละ 0.9-1.9 โดยยังไม่นำโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เข้ามาคำนวณ เพราะนโยบายหลักต้องหารืออีกหลายฝ่าย หลังได้ตั้งอนุกรรมการขึ้นอีก 2 ชุด เพื่อพิจารณาความเห็นทั้งกฤษฎีกาและ ป.ป.ช. และด้านต่างๆ คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวร้อยละ 3 การลงทุนขยายตัวร้อยละ 3.5 การท่องเที่ยวคาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 35 ล้านคน มีการใช้จ่ายในประเทศ 1.22 ล้านล้านบาท มีการใช้จ่าย 35,0000 บาทต่อคนต่อทริป นับเป็นแรงหนุนเศรษฐกิจที่สำคัญ รัฐบาลต้องดูแลความปลอดภัยในการท่องเที่ยวในประเทศ การยกเว้นวีซ่าระยะยาวให้กับต่างชาติ ทั้งผู้สูงอายุ ผู้เชี่ยวชาญ ผู้มีกำลังซื้อสูง เพื่อเข้ามาใช้จ่ายในประเทศ
“ขณะนี้มีควาเป็นห่วงตัวเลขการผลิตภาคอุตสาหกรรมอย่างมาก คาดว่าขยายตัวร้อยละ 3.5 ในปี 67 เพราะการส่งออกเริ่มกลับมาขยายตัวร้อยละ 2.9 ในปี 67 เทียบกับการลดลงร้อยละ 1.7 ในปี 66 จึงต้องหารือกับสภาอุตสหกรรม สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) และหน่วยงานเกี่ยวข้อง เนื่องจากการส่งออกเริ่มดี แต่ทำไมเอกชนไม่สามารถผลิตสินค้าให้เติบโตได้ทันตามออร์เดอร์เข้ามา มีปัญหาเกิดขึ้นอย่างไร ทั้งเงินทุน แรงงาน การผลิต เพราะการผลิตอุตสาหกรรมมีสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 27-28 ของจีดีพี หากเอกชนไม่ขยับกระทบต่อจีดีพีของประเทศหนักมาก” นายดนุชา กล่าว
สภาพัฒน์ ยังแนะให้ ธปท. พิจารณาอัตราดอกเบี้ยครั้งต่อไปอย่างจริงจัง หากลดดอกเบี้ยครั้งต่อไป จะช่วยดูแลให้ครอบคลุมทุกภาคส่วน รวมทั้งควรลดส่วนต่างดอกเบี้ยเงินฝากและเงินกู้ เพื่อดูแลภาระเอสเอ็มอีและรายย่อย ปัจจุบัน ธนาคารมีส่วนต่างประมาณร้อยละ 5 เพื่อให้กลุ่มเอสเอ็มอีให้มีสภาพคล่องเพิ่ม รวมทั้งภาคครัวเรือน ยอมรับว่ารายย่อยต้องจ่ายเงินงวดผ่อนบ้าน นับว่าสำคัญมาก และเอสเอ็มอีและรายย่อยนำบัตรเครดิตมารูดใช้เป็นทุนประกอบอาชีพอย่างมาก หากรายใดมีปัญหาค้างชำระหนี้เป็นเวลานาน ต้องดึงลูกหนี้มาเจรจาหนี้ ไม่ให้กระทบต่อหนี้ NPL จึงอยากให้ ธปท. ทบทวนเกณฑ์ชำระหนี้ขั้นต่ำร้อยละ 5 ซึ่งได้ปรับเพิ่มเป็นร้อยละ 10 ช่วงที่ผ่านมา เพื่อดูแลหนี้ครัวเรือน โดยทำอย่างจริงจังเห็นผลชัดเจนมากขึ้น ยอมรับว่านโยบายการคลังใช้กระตุ้นเศรษฐกิจไปเกือบหมดแล้ว จึงต้องใช้นโยบายการเงินเข้ามาดูแลเศรษฐกิจเพิ่มเติม
นายดนุชา เสนอเพิ่มเติมว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในช่วงนี้ ต้องหามาตรการดูแลภาคหนี้ครัวเรือน เพราะหนี้ครัวเรือนต่อจีดพีสูงต่อเนื่องมาหลายปียังไม่ลดลง หวั่นกระทบรายย่อยอย่างมาก สำหรับการดูแลผู้ส่งออก สภาพัฒน์กำลังหารือกับกระทรวงการคลัง สร้างระบบค้ำประกันการส่งออกเป็นรายบุคคล หากมีออเดอร์สั่งซื้อเข้ามา ควรนำเอกสารดังกล่าว ยื่นค้ำประกันการกู้เงินจากแบงก์ เพื่อนำทุนมาผลิตสินค้าได้ โดยไม่ต้องรอการค้ำประกันจาก บสย.ในแต่ละชุด เพื่อออกมาดูแลเอสเอ็มอีผู้ส่งออก รวมทั้งการเร่งรัดเบิกจ่ายงบประมาณปี 67 ของหน่วยงานภาครัฐ เพื่อให้เบิกจ่ายงบลงทุนได้ตามเป้าหมาย เตือนระวังภัยแล้งจากอุณหภูมิสูงในปีนี้ จนกระทบต่อการผลิตสินค้าเกษตร รัฐบาลต้องเตรียมแผนรองรับ หวั่นกระทบต่อเกษตรกรหนักมาก อีกทั้งความรุนแรงตะวันออกกลาง ยังกระทบต่อค่าระวางเรือ กระทบต้นทุนการส่งออกของไทย.-515-สำนักข่าวไทย