กรุงเทพฯ 31 ก.ค. – กพช.ยกเลิกระบบช่วยเหลือค่าไฟฟ้า-แอลพีจี โอนเข้าสู่บัตรคนจนเริ่ม 1 ต.ค. หาบเร่แผงลอยถูกทบทวนอาจไม่เข้าข่ายช่วยเหลือ พร้อมกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าขายสำหรับอีวีแล้วใช้เกณฑ์ทีโอยู ส่วน กฟผ.ลอยลำนำเข้าแอลพีจีส่วนขยายเทอร์มินอล 1 ในอัตรา 1.5 ล้านตัน/ปี
พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานวันนี้ (31 ก.ค.) เห็นชอบให้ปรับแนวทางการช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยด้านไฟฟ้าและแอลพีจี ผ่านระบบสวัสดิการตามโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐปี 2560 ซึ่งจะเริ่มใช้เดือน ตุลาคมนี้ โดยใช้เงินงบประมาณ กระทรวงการคลัง มาตรการค่าไฟฟ้าฟรีภายใน วงเงิน 200 บาท/คน/เดือน ก๊าซแอลพีจี 45 บาท/คน/3 เดือน ทำให้ขยายฐานการช่วยเหลือจากเดิม 7 ล้านคน เป็น 14 ล้านคน โดยเป็นการยกเลิกการช่วยเหลือแบบเดิมที่ยึดผู้ใช้ไฟไม่เกิน 50 หน่วยต่อเดือน และเกณฑ์ตัดสินผู้รับการอุดหนุนแอลพีจีที่อิงการใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วย/เดือน
ส่วนหาบเร่แผงลอยที่ปัจจุบันได้รับการช่วยเหลือประมาณ 120,000 ราย วงเงินช่วยเหลือ 27 ล้านบาท/เดือนที่ราคา18.13 บาท/ กก.นั้น ในส่วนนี้กระทรวงพลังงานและกระทรวงการคลังจะหารือกันต่อไปว่าจะช่วยเหลือหรือไม่ และกำหนดหลักเกณฑ์ใหม่อย่างไร เช่น อาจจะกำหนดราคาอาหารไม่ให้สูงเกินไป เพื่อช่วยเหลือประชาชนอย่างแท้จริง แต่หากปฏิบัติไม่ได้จะต้องยกเลิกก็แล้วแต่จะพิจารณา โดยที่ผ่านมา ปตท. เป็นผู้จ่ายเงินช่วยเหลือเงินอุดหนุนแอลพีจีทั้งผู้มีรายได้น้อยและหาบเร่แผงลอยประมาณ 28 ล้านบาท/เดือน
ส่วนการลอยตัวแอลพีจีสมบูรณ์แบบที่จะมีการประกาศหลังประการประชุม กบง .พรุ่งนี้ (1 ส.ค.) นายวิฑูรย์ กุลเจริญวิรัตน์ อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน คาดว่าราคาขายปลีกจะไม่เปลี่ยนแปลงจากราคา 20.29บาท/หน่วย แม้ราคาตลาดโลกเดือนสิงหาคมจะขยับขึ้น 85 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน มาอยู่ที่ 440 ดอลลาร์/ตัน โดยคาด กบง.จะใช้เงินกองทุนน้ำมันบัญชีแอลพีจีเข้าอุดหนุน
นายทวารัฐ สูตะบุตร ผู้อำนวยการ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) กล่าวว่า กพช.ยังเห็นชอบแนวทางการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซแอลพีจีเต็มรูปแบบตามที่ กบง.มีมติวางแนวทางไว้ เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2560 โดยให้ยกเลิกการกำหนดราคาโรงแยกก๊าซธรรมชาติ โรงกลั่นน้ำมันและโรงอะโรเมติก ยกเลิกการประกาศราคาขายส่ง ณ คลังก๊าซ เพื่อให้ตลาดก๊าซแอลพีจีมีการแข่งขันอย่างสมบูรณ์ โดยให้ สนพ. และกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) ติดตามและรายงานเฉพาะราคาอ้างอิง เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการกำกับดูแลราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีในประเทศ พร้อมมีกลไกการติดตามสถานการณ์ราคาอ้างอิงการนำเข้าก๊าซแอลพีจี และต้นทุนโรงแยกก๊าซอย่างใกล้ชิดเป็นรายเดือน โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2560 เป็นต้นไป พร้อมเห็นชอบให้ ปตท.สามารถดำเนินธุรกิจคลังก๊าซภายใต้โครงการ LPG Integrated Facility Enhancement (โครงการ LIFE) ในเชิงพาณิชย์ได้
กพช. ยังเห็นชอบให้ผู้ติดตั้งปั๊มชาร์จ ไฟฟ้าขายไฟให้แก่รถอีวีได้ในระยะแรกในอัตราทีโอยู คือ เติมกลางวันจ่าย 4.10 บาท/หน่วย เติมกลางคืนจ่าย 2.60 บาท/หน่วย ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้รถไฟฟ้าและสถานีชารจ์ไฟฟ้าเกิดขึ้นตามแผนไทยแลนด์ 4.0
ส่วนก๊าซธรรมชาติเหลวหรือแอลเอ็นจีที่ประชุมเห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้สิทธิ์นำเข้า 1.5 ล้านตันในส่วนขยาย สถานีที่ 1 มาบตาพุดของ ปตท. โดยจะนำมาใช้ในโรงไฟฟ้าพระนครใต้ บางปะกง และวังน้อย เริ่มปี 2561
กพช.เห็นชอบในหลักการร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าระหว่าง กฟผ.กับรัฐวิสาหกิจไฟฟ้าลาว (ฟฟล.) ซึ่งเป็นการรวมสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนน้ำงึม 1 และสัญญาซื้อขายไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าเขื่อนเซเสด เข้าด้วยกันเป็นสัญญาฉบับใหม่ สำหรับสัญญาดังกล่าวจะเป็นลักษณะของการให้ความช่วยเหลือและแลกเปลี่ยนพลังงานไฟฟ้าระหว่างประเทศไทย-สปป.ลาว แบบ Non – Firm โดยมีอายุสัญญาถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2567 ทั้งนี้ ให้ กฟผ.ลงนามในสัญญาซื้อขายไฟฟ้าฯ ดังกล่าว ภายหลังจากที่ร่างสัญญาฯ ผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว พร้อมเห็นชอบร่างสัญญาซื้อขายไฟฟ้าของโครงการบูรณาการด้านไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไปประเทศมาเลเซียผ่านระบบส่งไฟฟ้าของไทย (LTM-PIP) โดยมีเป้าหมายให้มีการขายไฟฟ้าจาก สปป.ลาว ไปยังมาเลเซียผ่านระบบส่งของไทยในปริมาณไม่เกิน 100 เมกะวัตต์ อายุสัญญา 2 ปี นับจากวันที่ 1 มกราคม 2561 ซึ่งเป็นการดำเนินภายใต้โครงการเชื่อมโยงพลังงานไฟฟ้าระหว่าง 4 ประเทศ ได้แก่ สปป. ลาว ไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ (LTMS-PIP) เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเชื่อมโยงระบบโครงข่ายไฟฟ้าในประเทศสมาชิกอาเซียนตามแผน ASEN POWER GRID (APG) ให้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ ให้นำเสนอ ครม.ตามลำดับต่อไป .-สำนักข่าวไทย