นนทบุรี 7 ก.พ. – อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา แนะผู้ประกอบการกางเกงลายช้างของไทยสร้างลวดลายสินค้าที่เป็นลิขสิทธิ์ของตนเอง หนุนพัฒนาคุณภาพสินค้า ควบควบคู่ไปกับการสร้างแบรนด์ เพื่อให้เกิดการจดจำและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน
กรมทรัพย์สินทางปัญญาได้สำรวจพื้นที่การค้า “กางเกงลายช้าง” ของไทย พบตลาดคึกคัก ผู้ค้าส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญกับการจำหน่ายสินค้าที่ผลิตในประเทศ เพราะคุณภาพดี ลวดลายสวยงาม มีเอกลักษณ์ ราคาเหมาะสม โดยกรมฯ แนะผู้ผลิตควรสร้างลวดลายสินค้าที่เป็นลิขสิทธิ์ของตนเองออกมาจำหน่าย
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า สินค้ากางเกงลายช้างที่จำหน่ายอยู่ในท้องตลาด มีทั้งที่ผลิตในประเทศและต่างประเทศ กรมฯ ได้ให้คำแนะนำแก่ผู้ค้าว่าควรเน้นขายสินค้าที่ผลิตในประเทศโดยผู้ประกอบการไทย เพราะสินค้ามีคุณภาพ และช่วยกระจายรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศ
ทั้งนี้ บรรยากาศการจำหน่ายสินค้าดังกล่าวยังคงเป็นไปอย่างคึกคัก ซึ่งจากกระแสข่าวที่เกิดขึ้นไม่ได้สร้างความกังวลให้แก่ผู้ประกอบการไทย ดังบทสัมภาษณ์ของคุณกิ่งกาญจน์ สมร เจ้าของบริษัท ชินรดา การ์เม้นท์ ผู้ผลิตกางเกงลายช้างจังหวัดเชียงใหม่ ที่เผยแพร่ผ่านสื่อมวลชนหลายสำนัก โดยระบุว่า โรงงานไม่ได้รับผลกระทบจากข่าวที่เกิดขึ้น ยิ่งมีกระแสข่าวยิ่งส่งผลให้กางเกงลายช้างของไทยขายดี และยังมีลูกค้ามาช่วยแนะนำโรงงานจำนวนมาก เพราะมีการออกแบบแพทเทิร์นและพิมพ์ลายเอง เนื้อผ้าดี มีการตัดเย็บที่ปราณีตและตรวจสอบคุณภาพสินค้าก่อนจำหน่ายทุกชิ้น
นอกจากนี้ ผู้ประกอบการในหลายจังหวัดยังตื่นตัวสร้างสรรค์และผลิตกางเกงลวดลายที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่น เช่น กางเกงแมวโคราช กางเกงปลาแรดอุทัยธานี กางเกงไก่ชนพิษณุโลก กางเกงลายหอยประจวบคีรีขันธ์ เป็นต้น โดยนำสัญลักษณ์ของแต่ละจังหวัดมาพัฒนาต่อยอดเป็นสินค้า ช่วยสร้างรายได้เข้าสู่จังหวัดได้อีกทางหนึ่ง ปัจจุบันกางเกงช้างที่มีจำหน่ายในท้องตลาดหากไม่ได้ลอกเลียนแบบใคร ก็ต้องถือว่าแต่ละแบบได้รับความคุ้มครองลิขสิทธิ์ทั้งสิ้น ในส่วนของผู้ผลิตกรมฯ แนะนำให้ผู้ผลิตสร้างสรรค์ลวดลายช้างใหม่ๆ ที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว ซึ่งนอกจากจะเพิ่มความสามารถในการแข่งขันแล้ว ยังได้รับความคุ้มครอง ซึ่งเจ้าของลิขสิทธิ์นำไปต่อยอดใช้ประโยชน์และสร้างรายได้ต่อไปได้อีกด้วย ดังนั้น ผู้สร้างสรรค์จึงควรนำลวดลายที่ออกแบบไว้มาแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อใช้เป็นหลักฐานในการดำเนินการทางกฎหมายหากพบการละเมิดลิขสิทธิ์เกิดขึ้น รวมทั้งใช้เป็นหลักฐานแสดงความเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในการเจรจาเพื่อขยายโอกาสทางการค้าได้อีกด้วย
อย่างไรก็ตาม การดำเนินธุรกิจในยุคปัจจุบัน นอกจากคุณภาพของสินค้าแล้ว ผู้ประกอบการไม่ควรมองข้ามเรื่องการสร้างแบรนด์ เพื่อใช้โปรโมตสินค้าให้ผู้บริโภคจดจำแยกแยะได้สะดวกมากขึ้น จึงสนับสนุนให้พัฒนาแบรนด์หรือเครื่องหมายการค้ามาจดทะเบียนกับกรมฯ เพื่อต่อยอดสร้างมูลค่าเพิ่มได้ในอีกหลายมิติ รวมถึงการทำการตลาดให้เข้าถึงกลุ่มลูกค้า โดยเฉพาะในช่องทางออนไลน์ ซึ่งกรมฯ มีบริการให้คำปรึกษาเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาแบบครบวงจร เพื่อเตรียมความพร้อมให้แก่ผู้ประกอบการก่อนเดินหน้าทำธุรกิจทั้งในและต่างประเทศ โดยผู้สนใจสามารถติดต่อรับบริการได้ที่ศูนย์ให้คำปรึกษาด้านทรัพย์สินทางปัญญา (IP Advisory Center : IPAC) หรือโทรสายด่วนกรมทรัพย์สินทางปัญญา 1368. -514-สำนักข่าวไทย