นนทบุรี 5 ก.พ. – อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา ย้ำชัดลายช้างบนกางเกงเป็นงานลิขสิทธิ์ บุคคลอื่นจะนำลวดลายดังกล่าวไปทำซ้ำ ดัดแปลง หรือใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ได้ พร้อมลุยตรวจเข้มสินค้าละเมิดทุกด่านชายแดน และย่านการค้าสำคัญ ใครละเมิดมีความผิดทางกฎหมาย
จากกรณีที่มีข่าวการนำเข้า “กางเกงลายช้าง” ที่ผลิตจากต่างประเทศ มาจำหน่ายในประเทศไทยเป็นจำนวนมาก ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิทธิของเจ้าของลิขสิทธิ์ และทำให้ผู้ประกอบการไทยเสียโอกาสทางการค้านั้น ล่าสุด นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้สั่งการด่วนให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาเร่งตรวจสอบกรณีดังกล่าว เพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาและผลประโยชน์ของคนไทย
นายวุฒิไกร ลีวีระพันธุ์ อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมฯ ได้เร่งดำเนินการทันที โดยจากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า กางเกงช้างซึ่งมีลวดลายเป็นเอกลักษณ์แบบศิลปะไทยเป็นที่นิยมแพร่หลาย โดยเฉพาะในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเยือนไทย ต้องหาซื้อมาสวมใส่ หรือติดมือเป็นของฝากนั้น ลวดลายช้างดังกล่าวได้มีการสร้างสรรค์โดยคนไทย ส่วนหนึ่งมีการยื่นแจ้งข้อมูลลิขสิทธิ์กับกรมทรัพย์สินทางปัญญาไว้แล้ว บุคคลอื่นจะนำลวดลายดังกล่าวไปทำซ้ำ ดัดแปลง หรือใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ได้
ทั้งนี้ ตนได้มอบหมายเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบย่านการค้าสำคัญ เพื่อตรวจสอบและให้ความรู้ความเข้าใจถึงความสำคัญของทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อปกป้องผลประโยชน์และความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย รวมทั้งได้ให้ข้อแนะนำแก่ผู้ค้าว่า ควรตรวจสอบสินค้าก่อนนำมาจำหน่าย โดยคำนึงถึงแหล่งที่มาของสินค้าว่าเป็นของที่ผลิตในประเทศหรือต่างประเทศ ซึ่งการค้าในปัจจุบันจำเป็นต้องแข่งขันกันด้วยคุณภาพสินค้า และกางเกงลายช้างที่ผลิตในประเทศไทยก็มีคุณภาพสูงและมีปริมาณการผลิตที่เพิ่มขึ้น การสนับสนุนสินค้าของผู้ประกอบการไทยจึงเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยสร้างรายได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ
นอกจากนี้ กรมทรัพย์สินทางปัญญายังได้ร่วมกับกรมศุลกากร เพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าต้องสงสัยว่าอาจเข้าข่ายการละเมิดลิขสิทธิ์ในทุกด่านชายแดนของไทย พร้อมหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางมาตรการปราบปรามสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ในท้องตลาดอย่างจริงจัง ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะกางเกงลายช้างเท่านั้น แต่ยังรวมถึงลวดลายอื่นๆ เช่น แมวโคราช ปลาทูแม่กลอง ก็จะเร่งดำเนินการในลักษณะเดียวกัน โดยโทษการละเมิดลิขสิทธิ์โดยตรง มีโทษปรับตั้งแต่ 20,000 บาท ถึง 200,000 บาท หากเป็นการกระทำเพื่อการค้า มีโทษจำคุกตั้งแต่ 6 เดือน ถึง 4 ปี หรือปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 800,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เป็นต้น.-514-สำนักข่าวไทย