รัฐสภา 1ก.พ.-“รังสิมันต์” ชี้ การนิรโทษกรรมไม่ควรเริ่มด้วยการจำกัดข้อหาใด ขออย่าเพิ่งรีบปิดทางไม่นิรโทษกรรมความผิดมาตรา 112 ควรออกแบบประตูให้เปิดกว้าง แก้ปัญหาสังคมไม่เป็นธรรม
นายรังสิมันต์ โรม สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล อภิปรายสนับสนุนญัตติขอให้สภาผู้แทนราษฎร ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทางร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรม ที่พรรคเพื่อไทย เสนอ ว่า ที่ผ่านมามีความขัดแย้งทางการเมืองและนิติสงคราม เรานำคนเป็นพันไปขังเพื่ออะไร
“ประเทศเราได้รับประโยชน์อะไร เชื้อไฟเหล่านี้ก็ไม่มีวันหมดไป แล้วจะมีการชุมนุมกันต่อมาเรื่อยๆ เพราะประเทศนี้ยังมีความไม่ยุติธรรม ดังนั้นกระดุมเม็ดแรกของการออกกฎหมายนิรโทษกรรม ไม่ควรเป็นการจำกัดว่าผิดมาตราใด จึงควรได้รับการนิรโทษกรรม เพราะหากเป็นแบบนั้น ก็จะยังมีผู้ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมต่อไป
เราต้องออกแบบประตูนี้ให้กว้างที่สุด ดังนั้น สิ่งแรกที่ต้องทำคืออย่าไปกำหนด ข้อหาอย่างเช่นความผิดตามมาตรา 112 หากมีข้อหานี้ ไม่ได้รับนิรโทษกรรม เราทำอย่างนี้ไม่ได้” นายรังสิมันต์ กล่าว
นายรังสิมันต์ ยอมรับว่า ผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวานนี้ (31 ม.ค.) ทำให้พื้นที่ของการหาทางออกวิกฤตทางการเมืองยากขึ้นเรื่อยๆ แต่อย่างน้อยก็หวังว่าการพิจารณาเรื่องนี้ในที่ประชุมสภาฯ จะเป็นการถอนฟืนออกจากกองไฟเสียบ้าง แม้จะไม่ได้แก้วิกฤตทั้งหมด แต่อย่างน้อยก็ช่วยคืนเยาวชนที่เอาไปเรียกร้องประชาธิปไตย ซึ่งไม่ควรเป็นความผิดตั้งแต่แรกให้กลับมา
ทั้งนี้ นายรังสิมันต์ ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ฉบับพรรคก้าวไกล ซึ่งมีหลักการ 4 ข้อ ให้คณะกรรมาธิการวิสามัญนำไปประกอบการพิจารณาศึกษา คือ 1) การให้นิรโทษกรรมไม่ควรจำกัดความผิดมาตราใดๆ 2) หากต้องจำกัดการให้นิรโทษกรรม ควรเป็นความผิดลักษณะร้ายแรง เช่น ความผิดมาตรา 113 อย่างผู้เคยรัฐประหาร วันที่ 22 พ.ค. หรือเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ควบคุมการชุมนุม สั่งให้เจ้าหน้าที่ไปตีกบาลผู้ชุมนุม หรือการกระทำที่นำไปสู่การพรากชีวิต อย่างนี้ไม่ควรได้รับการนิรโทษกรรม 3) ต้องถึงตระหนักว่าผู้ชุมนุมต่างก็มีความปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมือง แม้เราไม่สามารถนิรโทษกรรมแบบเหมาเข่งได้ การพิจารณากลั่นกรองจึงควรมองทั้งมิติทางกฎหมาย และมิติทางการเมืองควบคู่กัน พรรคก้าวไกลจึงเสนอให้มีคณะกรรมการกลั่นกรองในเวลา 2 ปี เพื่อชี้ขาดว่ากรณีใดสมควรได้รับการนิรโทษกรรม และ 4) เปิดช่องให้สละสิทธิ์การรับนิรโทษกรรมได้ สำหรับผู้ที่กลัวว่าจะเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ เช่น ผู้ที่เคยต่อต้านการนิรโทษกรรมมาก่อน.-312.-สำนักข่าวไทย