กรุงเทพฯ 14 ม.ค. -อธิบดีกรมปศุสัตว์ เผยเตรียมเสนอ 3 โครงการเร่งด่วนให้พิกบอร์ดพิจารณาเห็นชอบรักษาเสถียรภาพราคาและแก้ไขปัญหาวิกฤติผู้เลี้ยงหมูขาดทุนต่อเนื่อง ตัดวงจรนำลูกหมูมาทำหมูหัน 450,000 ตัวใน 3 เดือน ผลักดันส่งออกกว่า 100,000 ตัวใน 6 เดือน พร้อมมาตรการช่วยเหลือฉุกเฉินด้านการเงิน
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า คณะทำงานการรักษาเสถียรภาพราคาสุกรของคณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (พิกบอร์ด) ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเร่งกำหนดแนวทางรักษาเสถียรภาพราคา แก้ไขปัญหาวิกฤตผู้เลี้ยงสุกรขาดทุนอย่างต่อเนื่อง และพัฒนาการเลี้ยงสุกรอย่างยั่งยืน โดยหน่วยงานที่ประชุมร่วมกับกรมปศุสัตว์ได้แก่ กรมการค้าภายใน กรมการค้าต่างประเทศ ผู้แทนสภาเกษตรกรแห่งชาติ ผู้แทนธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ (ธ.ก.ส.) ผู้แทนสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ ผู้แทนสมาคมสัตวบาลแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมผู้ผลิตและแปรรูปสุกรเพื่อการส่งออก ผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย ตัวแทนจากชมรมและสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรในประเทศไทย และผู้ทรงคุณวุฒิจากพิกบอร์ด
สำหรับโครงการเร่งด่วนมี 3 โครงการได้แก่
1. โครงการตัดวงจรลูกสุกรทำหมูหันเพื่อรักษาเสถียรภาพราคาโดยการลดปริมาณสุกร กำหนดแผนการดำเนินงาน 450,000 ตัวในระยะเวลา 3 เดือน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 180 ล้านบาท
2. โครงการส่งออกเนื้อสุกรไปต่างประเทศซึ่งจะผลักดันเนื้อสุกรแช่เย็นหรือแช่แข็งส่วนเกินส่งออกไปจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ มีเป้าหมายผลักดันการส่งออกเนื้อสุกรแช่เย็นและแช่แข็ง 8,400 ตัน (จำนวน 109,091 ตัว) ในระยะเวลา 6 เดือน โดยจะของบสนับสนุนเงินค่าบริหารจัดการ 252 ล้านบาท
3. โครงการช่วยเหลือฉุกเฉินด้านการเงินซึ่งสนับสนุนโดยธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตรประกอบด้วย การพักชำระหนี้ให้เกษตรกรและปรับปรุงโครงสร้างหนี้ อีกทั้งยังมีโครงการสินเชื่อฟื้นฟูศักยภาพผู้เลี้ยงสุกรซึ่งลดอัตราดอกเบี้ยและใช้บุคคลเป็นผู้ค้ำประกันได้ เน้นช่วยเหลือเกษตรกรรายย่อย โดยจะเพิ่มวงเงินของสินเชื่อเพื่อให้เกษตรกรรายย่อยนำสุกรเข้ามาเลี้ยงได้มากขึ้น
ทั้งนี้กรมปศุสัตว์จัดทำรายละเอียดโครงการเพื่อนำเสนอพิกบอร์ดเพื่ออนุมัติในหลักการต่อไป โดยการประชุมพิกบอร์ดครั้งต่อไป จะมีขึ้นปลายเดือนมกราคม 2567
นอกจากนี้กรมปศุสัตว์ร่วมกับภาคเอกชนเตรียมฟื้นฟูการส่งออกสุกรมีชีวิตไปยังต่างประเทศเพื่อรักษาสมดุลผลผลิตในประเทศให้สอดคล้องกับความต้องการบริโภคอีกด้วยเพื่อเป็นหนึ่งในแนวทางรักษาเสถียรภาพราคาสุกรในระยะยาว. – 512 – สำนักข่าวไทย