กระทรวงมหาดไทย 4 ม.ค.-โฆษกมหาดไทยแจงหลังสส.อภิปรายงบอปท. ย้ำกระจายทรัพยากรตามภารกิจ ความจำเป็นของพื้นที่ มีแผนพัฒนาประสิทธิภาพจัดเก็บรายได้ชัดเจน
น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะโฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า จากการประชุมพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 วาระที่ 1 วันที่ 3 ม.ค.ที่ผ่านมา มีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) จากพรรครัฐบาลและฝ่ายค้านหลายคนอภิปรายในประเด็นเกี่ยวกับรายได้ งบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) โดยเฉพาะในประเด็นสัดส่วนรายได้ของอปท. ที่ตามงบประมาณรายจ่ายปี 2567 ได้รับการจัดสรร 810,031.7565 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 29.06 ต่อรายได้สุทธิของรัฐบาล ยังไม่ถึงถึงร้อยละ 35 ตามที่ พ.ร.บ.กำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นฉบับที่ 2 พ.ศ. 2549 กำหนดไว้เป็นเป้าหมาย
“เกี่ยวกับประเด็นนี้ แม้สัดส่วนรายได้ของอปท. ยังไปไม่ถึงเป้าหมาย แต่การดำเนินการจัดสรรงบประมาณต่าง ๆ รัฐบาลได้มีการคำนึงถึงความเท่าเทียมและเป็นธรรมในการกระจายทรัพยากรงบประมาณไปยังภาคส่วนต่าง ๆ ของประเทศภายใต้งบประมาณที่จำกัด ซึ่งในจำนวนนี้ก็พิจารณาถึงสัดส่วนการอุดหนุนให้ อปท. ที่ได้พิจารณาตามบริบทข้อเท็จจริงแต่ละพื้นที่ด้วย กระทรวงมหาดไทยในฐานะหน่วยงานที่กำกับอปท. ทั่วประเทศ มีแผนพัฒนารายได้อปท.ชัดเจน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเพิ่มรายได้อปท. โดยคำนึงถึงระยะเวลาที่เหมาะสมกับการพัฒนา” โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า การดำเนินการเป็นไปตามภารกิจที่ถ่ายโอนให้อปท. ประกอบด้วยการผลักดันผ่านแนวทางต่าง ๆ ดังนี้ การจัดทำร่าง พ.ร.บ.รายได้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. ….เพื่อปฏิรูปโครงสร้างรายได้ที่จะมาจาก 4 รายได้ 4 ประเภท ได้แก่ ภาษีท้องถิ่น,ภาษีที่ใช้ฐานร่วมระหว่างรัฐกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น, ภาษีที่รัฐจัดสรรให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และ เงินอุดหนุนจากรัฐ ซึ่งกฎหมายฉบับนี้จะทำให้ อปท.ยืนบนฐานรายได้จัดเก็บเองและมีอิสระมากขึ้น พัฒนาระบบ โดยรนำเทคโนโลยี สารสนเทศมาใช้ในกระบวนการจัดเก็บภาษี เพื่อให้สามารถตรวจสอบการยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีได้อย่าง รวดเร็วและแม่นยำ ใช้ระบบบริหารความเสี่ยงต่าง ๆ ติดตามการจัดเก็บภาษีของธุรกิจที่มีศักยภาพ ให้บริการรับชำระภาษีแบบ One Stop Service
“การที่พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. 2562 มีผลบังคับใช้แล้วโดยได้ยกเลิกภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่โดยใช้ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างแทน กฎหมายนี้จะทำให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บรายได้เพิ่มมากขึ้นในอนาคต รวมทั้ง พ.ร.บ.วิธีการงบประมาณ พ.ศ. 2561 กำหนดกลไกให้ อปท. สามารถจัดทำคำขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีเสนอตรงไปสำนักงบประมาณได้โดยตรง ตามความจำเป็นของท้องถิ่นและพื้นที่และจะได้รับเงินอุดหนุนที่เพิ่มขึ้นด้วย” โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าว
น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ส่วนกรณีที่สส.อภิปรายในประเด็นอื่น อาทิ การถ่ายโอนภารกิจ รพ.สต.ไปยังอปท.ประสบปัญหาบุคลากรและเครื่องมือทางการแพทย์ไม่เพียงพอ กระทรวงมหาดไทยไม่ได้นิ่งนอนใจ โดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้มีการประสานงานกับหน่วยงานเกี่ยวข้องในการแก้ไขปัญหาในช่วงการถ่ายโอนเพื่อไม่ให้กระทบต่อการให้บริการแก่ประชาชน โดยในส่วนของการแก้ไขปัญหาเรื่องบุคลากร ภายใต้กฎหมายปัจจุบัน อปท.สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยจ้างเหมาบุคลากรทางด้าน สาธารณสุข เช่น แพทย์ พยาบาล บุคลากรด้านสาธารณสุข ที่เกษียณอายุราชการ หรือที่ปฏิบัติงานในเอกชนมาให้บริการประชาชนไปพลางก่อนได้
“ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาว กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นร่วมกับสำนักงบประมาณจัดทำแนวทางแผนการสรรหาบุคลากรทดแทนตามมติที่ประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งจะได้และซักซ้อมความเข้าใจให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ตามแผนดังกล่าวต่อไป lวนด้านอุปกรณ์ เครื่องมือแพทย์ อปท. ที่รับการถ่ายโอนภารกิจหลายแห่งได้จัดซื้อครุภัณฑ์ทางการแพทย์ได้ เช่น รถทันตกรรมเคลื่อนที่ รถเอกซเรย์เต้านมเคลื่อนที่ เครื่องตรวจตาในผู้ป่วยเบาหวาน ติดตั้งระบบการแพทย์ทางไกล Telemedicine ซึ่งเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับประชาชนในการได้รับบริการที่ทันสมัย ทั่วถึงและเท่าเทียม และยังเป็นการแก้ไขปัญหาบุคลากรที่ขาดแคลนอีกทางหนึ่งด้วย.-317.-สำนักข่าวไทย