นนทบุรี 25 พ.ย.-ปลัดพาณิชย์ เผยยอดส่งออกเดือน พ.ย.66 ยังเติบโตต่อเนื่องมูลค่า 23,479.7 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวเป็นบวกร้อยละ 4.9 ส่งผลยอดส่งออก 11 เดือนยังติดลบแค่ร้อยละ 1.5 คาดทั้งปีติดลบเพียงไม่ถึงร้อยละ 1 แต่ยังกังวลปัญหาทะแลแดง ทำเปลี่ยนเส้นทางเดินเรือ
นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์แถลงข่าวภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทย เดือนพฤศจิกายน 2566 และ 11 เดือนแรกของปี 2566 โดยยอดส่งออกของไทยในเดือนพฤศจิกายน 2566 มีมูลค่า 23,479.7 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือคิดเป็นเงินบาท 847,486 ล้านบาท ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 ที่ร้อยละ 4.9 หากหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 4.0 ตลาดส่งออกสำคัญของไทยฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องหลังจากภาวะเงินเฟ้อสูงเริ่มชะลอลงและมีแนวโน้มกลับสู่ระดับเป้าหมายในปีหน้า โดยหลายประเทศเริ่มส่งสัญญาณการจบวงรอบการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแล้ว ส่งผลให้ความเชื่อมั่นในการบริโภคปรับตัวสูงขึ้น การส่งออกรายสินค้าในภาพรวมขยายตัวทุกหมวด โดยเฉพาะหมวดสินค้าเกษตรที่ขยายตัวมากกว่าหมวดอื่น ๆ ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมเติบโตอย่างต่อเนื่องตามวัฏจักรการฟื้นตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และมีปัจจัยบวกจากการจับจ่ายใช้สอยก่อนเข้าสู่เทศกาลสำคัญในช่วงท้ายปี ส่งผลให้ผู้ประกอบการในหลายประเทศเร่งนำเข้าสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการ
อย่างไรก็ตาม ส่งผลให้การส่งออกไทย 11 เดือนแรกของปี 2566 หดตัวร้อยละ 1.5 และเมื่อหักสินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน ทองคำ และยุทธปัจจัย ขยายตัวร้อยละ 0.5
มูลค่าการค้ารวมมูลค่าการค้าในรูปเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ตัวเลขการนำเข้า มีมูลค่า 25,879.1 ล้านเหรียญสหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 10.1 ดุลการค้า ขาดดุล 2,399.4 ล้านเหรียญสหรัฐ ภาพรวม 11 เดือนแรกของปี 2566 การส่งออก มีมูลค่า 261,770.3 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 1.5 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน การนำเข้า มีมูลค่า 267,935.5 ล้านเหรียญสหรัฐ หดตัวร้อยละ 3.8 ดุลการค้า 11 เดือนแรกของปี 2566 ขาดดุล 6,165.3 ล้านเหรียญสหรัฐ
อย่างไรก็ตาม การส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 4.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน โดยสินค้าเกษตร ขยายตัวร้อยละ 7.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน และสินค้าอุตสาหกรรมเกษตร ขยายตัวร้อยละ 1.7 ขยายตัวต่อเนื่อง 3 เดือน มีสินค้าสำคัญที่ขยายตัว ได้แก่ ข้าว ขยายตัวร้อยละ 67.9 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ สหรัฐฯ แอฟริกาใต้ และแอลจีเรีย) ยางพารา ขยายตัวร้อยละ 14.5 กลับมาขยายตัวในรอบ 16 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน ญี่ปุ่น มาเลเซีย สหรัฐฯ และตุรกี) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 2.5 กลับมาขยายตัวในรอบ 11 เดือน (ขยายตัวในตลาดออสเตรเลีย ลิเบีย แคนาดา อิสราเอล และอาร์เจนตินา) อาหารสัตว์เลี้ยง ขยายตัวร้อยละ 3.3 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ญี่ปุ่น อิตาลี ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม) ผลไม้กระป๋องและแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 5.1 ขยายตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ จีน ออสเตรเลีย แคนาดา และกัมพูชา) สิ่งปรุงรสอาหาร ขยายตัวร้อยละ 21.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 5 เดือน (ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ ออสเตรเลีย เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี และเมียนมา) ผักกระป๋องและผักแปรรูป ขยายตัวร้อยละ 26.6 ขยายตัวต่อเนื่อง 10 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น สหรัฐฯ เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และฟิลิปปินส์) ผักสด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง ขยายตัวร้อยละ 29.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 4 เดือน (ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น มาเลเซีย ไต้หวัน เมียนมา และสหรัฐฯ) กุ้งต้มสุกแช่เย็น ขยายตัวร้อยละ 140.8 ขยายตัวต่อเนื่อง 8 เดือน (ขยายตัวในตลาดจีน ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และไต้หวัน)
ขณะที่สินค้าสำคัญที่หดตัว อาทิ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง หดตัวร้อยละ 12.8 กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน (หดตัวในตลาดจีน ไต้หวัน เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ แต่ขยายตัวในตลาดญี่ปุ่น มาเลเซีย สหรัฐฯ บังกลาเทศ และออสเตรเลีย) ผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง หดตัวร้อยละ 26.9 กลับมาหดตัวในรอบ 6 เดือน (หดตัวในตลาดจีน มาเลเซีย อินโดนีเซีย ฮ่องกง และสิงคโปร์ แต่ขยายตัวในตลาดสหรัฐฯ เวียดนาม เมียนมา เกาหลีใต้ และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์) น้ำตาลทราย หดตัวร้อยละ 9.8 หดตัวต่อเนื่อง 2 เดือน (หดตัวในตลาดอินโดนีเซีย ลาว จีน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ แต่ขยายตัวในตลาดกัมพูชา เวียดนาม สิงคโปร์ ไต้หวัน และเกาหลีใต้) ไขมันและน้ำมันจากพืชและสัตว์ หดตัวร้อยละ 47.1 กลับมาหดตัวในรอบ 3 เดือน (หดตัวในตลาดเวียดนาม มาเลเซีย กัมพูชา อินเดีย และฟิลิปปินส์ แต่ขยายตัวในตลาดเมียนมา เกาหลีใต้ จีน เนเธอร์แลนด์ และออสเตรเลียเป็นต้น
นอกจากนี้ แม้ว่าในช่วงเดือน พ.ย.66 จะเกิดปัญหาในด้านทะแลแดงเกิดขึ้น จนทำให้มีการเปลี่ยนเส้นทางขนส่งทางเรือเกิดขึ้น โดยกระทรวงพาณิชย์และภาคการส่ฃออกคาดหวังสถานการณ์นี้จะไม่ยืดเยื้อยาวนาน ก็จะทำกลับมาเป็นปกติได้ และในวันพรุ่งนี้ จะมีการประชุมร่วมระหว่างภาคเอกชนโดยเฉพาะสายการเดินเรือระหว่างประเทศ ผู้ส่งออกสินค้าทางเรือและกรมการค้าภายในเพื่อร่วมกันวิเคราะห์ถึงต้นทุนการคิดค่าระวางเรือให้เกิดความเป็นธรรมยิ่งขึ้น
ทั้งนี้ คงต้องติดตามภาพรวมการส่งออกของไทยในเดือน ธ.ค.66 นี้ จะยังขยายตัวเป็นบวกได้อยู่หรือไม่แต่หากส่งออกได้ยอดถึงกว่า 23,000 ล้านเหรียญสหรัฐ น่าจะทำให้ตัวเลขการส่งออกทั้งปีติดลบเพียงไม่ถึงร้อยละ 1.5 หรือประมาณติดลบเพียงร้อยละ 0.8 หากดันยอดได้ถึงกว่า 25,654 ล้านเหรียญสหรัฐ จะทำให้ยอดส่งออกทั้งปีขยายตัวร้อยละ 0 ไม่ติดลบ แต่การทำยอดดังกล่าวถือว่าสูงพอควร เนื่องจากมีเหตุการณ์ความไม่สงบในตะวันออกกลางอยู่ จึงทำให้ยอดส่งออกรวมน่าจะใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ โดยการส่งออก 2567 กระทรวงพาณิชย์ จะปรับตัวดีขึ้น ตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก หลังจากที่เงินเฟ้อชะลอลงกลับสู่เป้าหมาย วัฏจักรการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มจะยุติลง กิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยฟื้นตัว พร้อมกับความเชื่อมั่นในการบริโภคและการลงทุนที่กลับมา ทั้งนี้ กระทรวงพาณิชย์ตั้งเป้าหมายการทำงานเพื่อผลักดันการเติบโตของมูลค่าการส่งออกในปี 2567 ไว้ที่ร้อยละ 1.99 หรือกว่า 280,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หากคิดเป็นมูลค่าประมาณ 10 ล้านล้านบาท เป็นต้น.-514-สำนักข่าวไทย