กรุงเทพฯ 18 ก.ค. – กรมชลฯ เผยพายุโซนร้อนตาลัส ส่งผลฝนตกหนักตอนบน ระดับน้ำในแม่น้ำยม-น่านสูงขึ้น แต่ยังไม่ล้นตลิ่ง ขณะเดียวกันสั่งเตรียมพร้อมเครื่องสูบน้ำรับมือน้ำท่วมฉับพลัน
นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า พายุโซนร้อนตาลัส ทำให้ฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำยมและแม่น้ำน่านสูงขึ้น แต่ยังไม่มีน้ำเอ่อล้นตลิ่ง และจากสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มีน้ำท่าไหลลงสู่แม่น้ำยม บริเวณ จ.แพร่ ค่อนข้างมาก ทำให้ระดับน้ำในแม่น้ำยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุด (18 ก.ค.) ที่สถานี Y.20 อ.สอง จ.แพร่ มีปริมาณน้ำไหลผ่าน 880 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (รับได้สูงสุด 3,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) ซึ่งปริมาณน้ำนี้จะไหลลงสู่ อ.เมืองแพร่ ในช่วงเช้าวันพรุ่งนี้ (19 ก.ค.) ก่อนจะไหลลงสู่ประตูระบายน้ำบ้านหาดสะพานจันทร์ อ.สวรรคโลก จ.สุโขทัย ในช่วงเช้าของวันที่ 21 ก.ค. 60 ตามลำดับ
ส่วน จ.น่าน ฝนที่ตกหนักส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำน่านสูงขึ้นเช่นกัน วันนี้ที่สถานี N.1 เขตเทศบาลเมืองน่าน มีน้ำไหลผ่าน 966 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (รับได้สูงสุด 1,265 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที) แนวโน้มระดับน้ำยังคงเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่มีน้ำเอ่อล้นตลิ่ง ซึ่งปริมาณน้ำนี้จะไหลลงสู่เขื่อนสิริกิติ์ทั้งหมด ส่งผลดีต่อเขื่อนสิริกิติ์ ที่ปัจจุบันยังมีปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้อย ทำให้มีปริมาณน้ำเก็กกักเพิ่มมากขึ้น
ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ให้โครงการชลประทานทั่วประเทศ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด พร้อมทั้งเตรียมความพร้อมทางด้านเครื่องจักร เครื่องมือ และเครื่องสูบน้ำต่าง ๆ ให้มีความพร้อมรับสถานการณ์ได้ตลอดเวลา เพื่อให้สามารถเข้าไปช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงทีหากเกิดปัญหาน้ำท่วม สำหรับพี่น้องประชาชนที่ต้องการความช่วยเหลือหรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ สามารถติดต่อมาได้ที่ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน โทร.สายด่วน 1460
นายสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและ การบินเกษตร เปิดเผยว่า กรมฝนหลวงฯ สนับสนุนข้อมูลเรดาร์ตรวจวัดกลุ่มฝนในการเฝ้าระวัง ติดตามสภาพอากาศและเตือนภัย เพื่อเป็นข้อมูลในการรับมือและวางแผนการจัดการน้ำให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประชาชน และเกษตรกร ซึ่งข้อมูลจากเรดาร์ตรวจวัดกลุ่มฝนจะแสดงบริเวณพื้นที่มีฝนตก รวมทั้งทิศทางและความเร็วในการเคลื่อนตัวของกลุ่มฝนนั้น ๆ ซึ่งจะช่วยเตือนภัยและเตรียมการป้องกันน้ำท่วม โดยสถานีเรดาร์ฝนหลวงตั้งอยู่ 5 สถานี ได้แก่ สถานีเรดาร์ฝนหลวงอมก๋อย จังหวัดเชียงใหม่, สถานีเรดาร์ฝนหลวงพิมาย จังหวัดนครราชสีมา, สถานีเรดาร์ฝนหลวงตาคลี จังหวัดนครสวรรค์, สถานีเรดาร์ฝนหลวงสัตหีบ จังหวัดชลบุรี และสถานีเรดาร์พนม จังหวัดสุราษฏร์ธานี โดยสนับสนุนข้อมูลครอบคลุมพื้นที่ทั่วประเทศ
นอกจากนี้ กรมฝนหลวงฯ ได้ติดตามสถานการณ์น้ำและวางแผนการปฏิบัติการฝนหลวงให้สอดคล้องกับพื้นที่การเกษตรที่ยังคงมีความต้องการน้ำฝน และเน้นเติมน้ำให้กับเขื่อนรวม 11 เขื่อน ที่ยังคงมีน้ำปริมาณเก็บกักน้อย ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่งัดสมบูรณ์ชล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนลำตะคอง เขื่อนศรีนครินทร์ อ่างเก็บน้ำคลองสียัด อ่างเก็บน้ำพระปรง เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนปราณบุรี เขื่อนวชิราลงกรณ และเขื่อนสิริกิติ์.-สำนักข่าวไทย