แม่ฮ่องสอน 25 พ.ย. – อธิบดีปศุสัตว์เผย ชุดเฉพาะกิจกรมปศุสัตว์ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหาร ร้อย ร.712 ฉก.สิงหนาทสกัดกั้นรถบรรทุกลักลอบเคลื่อนย้ายโค 16 ตัว คาดนำเข้าผ่านชายแดนไทย-เมียนมา จึงดำเนินคดีตามพ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ ล่าสุดได้ออกประกาศกรมปศุสัตว์ขยายเวลาชะลอการนำเข้าสัตว์กีบคู่ทั้งโค กระบือ แพะ แกะจากเมียนมา เหตุยังพบการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์กล่าวว่า ได้รับรายงานจากนายญาณากร แห่งพิษ หัวหน้าด่านกักกันสัตว์แม่ฮ่องสอนถึงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ชุดเฉพาะกิจซึ่งประกอบด้วย เจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์แม่ฮ่องสอน สำนักงานปศุสัตว์จังหวัดแม่ฮ่องสอน สำนักงานปศุสัตว์อำเภอปางมะผ้า ชุดเฉพาะกิจด่านกักกันสัตว์แพร่ร่วมกับเจ้าหน้าที่ทหารกองร้อยทหารราบที่ 712 ฉก.สิงหนาท โดยเมื่อคืนที่ผ่านมา สามารถจับกุมผู้ลักลอบเคลื่อนย้ายโคซึ่งคาดว่า ลักลอบนำเข้าจากประเทศเมียนมา
ทั้งนี้คณะเจ้าหน้าที่จับกุมได้ ระหว่างลาดตระเวนบริเวณชายแดนไทย-เมียนมา บ้านไม้ซางหนาม อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน จากที่มีสายข่าวรายงานว่า จะมีการลักลอบเคลื่อนย้ายโคจากประเทศเมียนมาจึงได้ซุ่มตรวจสอบบริเวณเส้นทางหลวงชนบท มส 4015 ระหว่างหมู่บ้านน้ำฮู-ผาเสื่อกับหมู่บ้านไม้ซางหนาม ต่อมาพบรถบรรทุก 6 ล้อ บรรทุกโคมีชีวิต 16 ตัว เจ้าหน้าที่จึงได้เข้าตรวจสอบ พร้อมทั้งเรียกดูใบอนุญาตเคลื่อนย้ายสัตว์ และเอกสารประกอบอื่นๆ แต่คนขับไม่สามารถหามาแสดงต่อเจ้าหน้าที่ได้ เจ้าหน้าที่จึงแจ้งความผิดฐานนำสัตว์หรือซากสัตว์เข้ามาในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตจากอธิบดีกรมปศุสัตว์ มีความผิดตามมาตรา 31 โดยมีโทษตามมาตรา 68 แห่งพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และมาตรา 242 ผู้ใดนำเข้ามาในราชอาณาจักรซึ่งของที่ยังมิได้ผ่านพิธีการศุลกากรโดยไม่ได้รับอนุญาต ของพ.ร.บ.ศุลกากร พ.ศ. 2560
ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ได้ร้องทุกข์กล่าวโทษแจ้งความดำเนินคดีผู้กระทำความผิดต่อพนักงานสอบสวนที่สถานีตำรวจภูธรปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอนและยึดอายัดของกลางโคมีชีวิตทั้งหมดกักไว้ ณ คอกกักสัตว์ด่านกักกันสัตว์แม่ฮ่องสอน อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอนเพื่อทดสอบโรคต่อไป
นายสัตวแพทย์สมชวนกล่าวว่า ได้ออกประกาศกรมปศุสัตว์ 2 ฉบับเกี่ยวกับการขยายเวลาชะลอการนำเข้าสัตว์กีบคู่ได้แก่ โค กระบือ แพะ และแกะจากเมียนมาเนื่องจากยังพบการระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อย โดยราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่แล้ว ประกอบด้วย ประกาศกรมปศุสัตว์ เรื่อง ชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งโค กระบือ หรือซากโค ซากกระบือ จากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา พ.ศ. 2566 และประกาศกรมปศุสัตว์ เรื่อง ชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งแพะ แกะ หรือซากแพะ ซากแกะ จากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา พ.ศ. 2566 โดยที่ผ่านมาซึ่งพบการระบาดของโรคดังกล่าว กรมปศุสัตว์จึงออกประกาศชะลอนำเข้าโค กระบือ แพะ และแกะ ล่าสุดในพื้นที่ของสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ยังไม่มีรายงานการปลอดโรคปากและเท้าเปื่อย (Self-declaration for the recovery of country freedom from Foot and Mouth Disease: FMD) จากองค์การสุขภาพสัตว์โลก (World Organisation for Animal Heatth : WOAH) ซึ่งโรคนี้ สามารถแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางได้ โดยมีสาเหตุสำคัญมาจากการเคลื่อนย้ายสัตว์ป่วยหรือสัตว์ที่เป็นพาหะนำโรคหรือซากของสัตว์ซึ่งป่วยหรือตายโดยโรคระบาดสัตว์ดังกล่าวไปยังท้องที่ต่างๆ เพื่อเป็นการป้องกันไม่ให้โรคระบาดสัตว์ดังกล่าวแพร่กระจายเข้ามา ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการเลี้ยงโค กระบือ แพะ และแกะในประเทศ จึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 6 วรรคหนึ่ง และมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติโรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 ออกประกาศให้ชะลอการนำเข้าหรือนำผ่านราชอาณาจักรซึ่งโค กระบือ หรือซากโค ซากกระบือ แพะ แกะ หรือซากแพะ ซากแกะที่มีแหล่งกำเนิดจากสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา ประกาศกรมปศุสัตว์ทั้ง 2 ฉบับมีผลใช้บังคับได้เป็นเวลา 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ 26 พฤศจิกายน 2566 และสิ้นสุดการบังคับใช้ในวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2567
นายสัตวแพทย์สมชวนกล่าวย้ำว่า นับแต่มีรายงานสถานการณ์การระบาดของโรคปากและเท้าเปื่อยในประเทศเมียนมา จึงสั่งการให้ด่านกักกันสัตว์ที่มีพื้นที่ติดชายแดนทุกแห่งเข้มงวดตรวจสอบ โดยจัดอัตรากำลังกว่า 100 นาย ทำหน้าที่ชุดลาดตระเวนและหาข่าวตามแนวชายแดน ตั้งจุดตรวจสกัดป้องกันการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์ตลอด 24 ชั่วโมง และประสานหน่วยงานความมั่นคง หน่วยงานศุลกากร ทหาร ตำรวจ เพื่อบูรณาการทำงานการป้องกันและเฝ้าระวังการลักลอบนำเข้าสัตว์และซากสัตว์
กรมปศุสัตว์ยังได้ประชุมหารือจากนักวิชาการและผู้เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์การนำเข้าโค กระบือ แพะ แกะใหม่ ให้สามารถนำเข้าสัตว์ได้อย่างปลอดภัย ไม่นำโรคระบาดสัตว์เข้าสู่ประเทศ อันจะส่งผลเสียหายแก่เศรษฐกิจของประเทศไทยได้ โดยระหว่างนี้กำชับให้เจ้าหน้าที่ปศุสัตว์พร้อมหน่วยงานในพื้นที่ดำเนินการตรวจสอบ รายงานและดำเนินการลงโทษผู้กระทำความผิดอย่างเข้มงวดอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ หากประชาชนต้องการแจ้งเบาะแสการลักลอบเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ หรือข้อมูลเพิ่มเติมสามารถติดต่อได้ที่ด่านกักกันสัตว์ สำนักงานปศุสัตว์อำเภอหรือสำนักงานปศุสัตว์จังหวัดใกล้บ้าน หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ โทร. 063-225-6888 หรือแจ้งผ่าน Application : DLD 4.0 ได้ตลอดเวลา.-สำนักข่าวไทย