กรมอนามัย 14 ก.ค.-กรมอนามัย ห่วงสุขภาพประชาชน แนะผู้เลี้ยงนก ต้องทำความสะอาดกรงนกอยู่เสมอ เพื่อไม่ให้มีมูลนกสะสม เสี่ยงหวั่นหายใจเอาเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย ส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจ พร้อมแนะวิธีป้องกัน
นพ.ดนัย ธีวันดา รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่าจากกรณีที่มีผู้ร้องเรียนเกี่ยวกับบ้านเลี้ยงนกพิราบสกปรก จนส่งกลิ่นเหม็น และสร้างความเดือดร้อนรำคาญกับเพื่อนบ้านนั้น อาจเสี่ยงต่อโรคที่จะติดต่อมาสู่คนได้ ได้แก่ โรคสมองอักเสบจากเชื้อรา ปอดอักเสบ ท้องเสียหรือแม้กระทั่งหมัดจากตัวนกเอง ซึ่งหนึ่งในเชื้อก่อโรคที่น่าห่วงกังวล คือ เชื้อราคริปโตคอคคัส นีโอฟอร์แมนส์ (Cryptococcus neoformans) พบมากในมูลนกตระกูลนกพิราบและนกอื่นๆ ซึ่งเป็นแหล่งเพาะเชื้อรานี้ได้ดีในสภาวะชื้นและแสงแดดส่องไม่ถึง ในสภาพที่มีอุณหภูมิระหว่าง 25-30 องศาเซลเซียส ประชาชนสามารถรับเชื้อราคริปโตคอคคัสนี้ได้ด้วยการหายใจ เพราะเชื้อราและสปอร์มีน้ำหนักเบาและถูกพัดพาให้กระจายไปในอากาศได้ง่ายดังนั้นการเข้าใกล้บริเวณกรงนกหรือโรงเลี้ยงนกที่สกปรก มีมูลนกสะสมจำนวนมาก หรือเมื่อนกกระพือปีก ทำให้เกิดฝุ่นละอองยิ่งฟุ้งกระจาย ก็อาจมีโอกาสเสี่ยงที่จะหายใจเอาเชื้อราหรือสปอร์ของเชื้อราเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจได้ นอกจากนี้ ผู้ที่เลี้ยงนกหรือให้อาหารนกพิราบในลักษณะดังกล่าว อาจก่อให้เกิดเหตุรำคาญและมีโทษตามกฎหมายสาธารณสุขด้วย
นพ.ดนัย กล่าวต่อไปว่า เชื้อราชนิดนี้จะมีผลที่ปอดก่อนและลามไปสู่ส่วนต่างๆของร่างกายโดยผ่านทางกระแสเลือด การเกิดโรคจะเกิดขึ้นอย่างช้าๆ และมีอาการปวดศีรษะเป็นพักๆ หน้ามืด วิงเวียน ปวดขมับ เบ้าตา บางครั้งถึงขั้นอาเจียน ไอและมีเสมหะปนเลือด มีไข้ต่ำ น้ำหนักลด อาจมีหลอดลมอักเสบร่วมด้วย ในบางรายจะไม่แสดงอาการ แต่เชื้อจะฟักตัวในร่างกายเป็นเวลาหลายปี จนเมื่อร่างกายอ่อนแอหรือภูมิคุ้มกันบกพร่องจะแสดงอาการออกมา โดยกลุ่มที่ต้องระวังเป็นพิเศษ ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ หอบหืด หรือผู้ที่มีภูมิต้านทานต่ำ ซึ่งจะมีอาการรุนแรงกว่าคนปกติและรักษาได้ยากกว่า หากประชาชนมีอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาที่ถูกวิธีต่อไป
‘สำหรับการป้องกันนอกจากการสวมผ้าปิดปากและจมูกเวลาทำความสะอาดอาคารเก่าหรือบริเวณที่พบนกอาศัยอยู่ ล้างมือทุกครั้งหลังทำความสะอาด ผู้ที่เลี้ยงนกต้องหมั่นทำความสะอาดกรงนกอยู่เสมอ สำหรับการไล่นกออกจากที่อยู่อาศัยสามารถทำได้ด้วยวิธีการต่างๆ อาทิ กั้นตาข่าย ตะแกรง หรือขึงเอ็นกีดขวางเพื่อไม่ให้นกเข้ามาอาศัย ในอาคารได้ ไม่แนะนำให้ใช้สารเคมี เพราะอาจฟุ้งกระจาย ทำให้คนหรือสิ่งแวดล้อมอาจได้รับอันตรายได้” รองอธิบดี กรมอนามัย กล่าว .-สำนักข่าวไทย