สธ. 5 ม.ค. – กรมอนามัย สนับสนุนทีม SEhRT ศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรี ร่วมเฝ้าระวัง ประเมินความเสี่ยงสุขภาพ และสิ่งแวดล้อมจากภาวะฉุกเฉินรถบรรทุกสารเคมีรั่วไหล จังหวัดสมุทรปราการ ร่วมกับทีม สสจ.จังหวัดสมุทรปราการ เน้นย้ำสื่อสารประชาสัมพันธ์ให้คำแนะนำแก่ประชาชนในการดูแลสุขภาพของตนเองและครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง
นายแพทย์อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงกรณีเกิดภาวะฉุกเฉินรถบรรทุกสารกำจัดศัตรูพืชประเภท Aluminium Phosphide เกิดการรั่วไหล ไฟไหม้ และมีก๊าซพิษฟุ้งกระจายไปในพื้นที่โดยรอบ ซอยพรสว่าง 12 ตำบลสำโรงเหนือ อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งสารเคมีดังกล่าว หากโดนน้ำจะทำให้เกิดก๊าซที่มีความเป็นพิษสูง เมื่อสูดดมหายใจเข้าไปจะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ และสุขภาพประชาชน ทั้งนี้ แม้สถานการณ์การรั่วไหลของสารเคมีขณะนี้จะคลี่คลายลงและมีการนำสารที่รั่วไหลไปกำจัดอย่างถูกต้องแล้ว แต่ประชาชนที่อาศัยโดยรอบพื้นที่เกิดเหตุยังคงมีความวิตกกังวลต่อการรับสัมผัสก๊าซพิษดังกล่าว
นายแพทย์อรรถพล กล่าวต่อไปว่า แพทย์หญิงอัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย ห่วงใยสุขภาพประชาชนที่อาจได้รับผลกระทบสุขภาพจากเหตุการณ์สารเคมีรั่วไหล จึงได้ส่งทีม SehRT ของศูนย์อนามัยที่ 6 ชลบุรีลงพื้นที่สนับสนุนการทำงานร่วมทีมปฏิบัติการ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ เพื่อประเมินความเสี่ยงด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม และสุขภาพ ดังนี้ 1) สำรวจความเสี่ยงสารเคมีตกค้าง ประเมินคุณภาพอากาศภายในอาคารที่พักอาศัยบริเวณใกล้เคียง 2) ประสานหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบเก็บขน ทำความสะอาดพื้นผิวถนนที่อาจมีสารเคมีซึ่งถูกกลบด้วยทรายไม่ให้ตกค้าง เพื่อป้องกันการเกิดความเสี่ยงทางสุขภาพ 3) สื่อสารสร้างการรับรู้ประชาชนในการดูแลสภาพแวดล้อม ทำความสะอาด และแนะนำการระบายอากาศภายในบ้านให้เพียงพอ 4) ร่วมประเมินความเสี่ยงสุขภาพ และให้คำแนะนำประชาชนพร้อมแนะนำดูแลสุขภาพตนเอง และครอบครัวโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงกลุ่มเปราะบาง และ 5) สนับสนุนหน้ากาก N95 ป้องกันสารเคมีสำหรับประชาชนโดยรอบพื้นที่เกิดเหตุเพื่อป้องกันการรับสัมผัสสารเคมีที่อาจตกค้างในสิ่งแวดล้อม
สำหรับวิธีป้องกัน เพื่อลดความเสี่ยงต่อสุขภาพ ให้ประชาชนในพื้นที่ประสบภัยเปิดประตู หน้าต่าง ระบายอากาศ หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องปรับอากาศชั่วคราว เพื่อให้อากาศถ่ายเท ลดการตกค้างของสารพิษภายในบ้าน แนะนำทำความสะอาดบ้านเรือน ปัด กวาด เช็ด ล้างอุปกรณ์หรือเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน เพื่อลดการปนเปื้อนของละออง หรือเขม่าจากการเกิดไฟไหม้สารเคมีจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยสวมหน้ากากหรือใส่ถุงมือขณะทำความสะอาด หมั่นสังเกตอาการตนเอง และคนในครอบครัวโดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบางในบ้าน ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีปัญหาโรคระบบทางเดินหายใจหากมีอาการแสดง หรือความผิดปกติจากการสูดดมสารพิษ เช่น เวียนศีรษะ คลื่นไส้ อาเจียน เป็นต้น ให้รีบพบแพทย์โดยด่วน ทั้งนี้ กรมอนามัย พร้อมสนับสนุนการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม และการดูแลสุขภาพประชาชนในกรณีเกิดภาวะฉุกเฉินจากสารเคมีรั่วไหล เพื่อให้ทั้งประชาชนมีความปลอดภัย มีความรู้ ความเข้าใจในการดูแลสุขภาพและการจัดการอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ดี ลดความเสี่ยงสุขภาพของตนเองและครอบครัวต่อไป. -411-สำนักข่าวไทย