กรุงเทพฯ 7 พ.ย.- อธิบดีกรมปศุสัตว์เผย ประชุมร่วมกับหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และตัวผู้เลี้ยงสุกรเพื่อหารือพัฒนาการเลี้ยงสุกรอย่างยั่งยืน เตรียมจัดทำโครงการเพื่อของบประมาณในการสนับสนุนการลดจำนวนหมูในวงจรการผลิต ผลักดันการส่งออก ควบคู่กับการปราบปราม “หมูเถื่อน” เพื่อรักษาเสถียรภาพราคาสุกรและแก้วิกฤติผู้เลี้ยงสุกรขาดทุนต่อเนื่อง ล่าสุดสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติประกาศปรับราคาหมูหน้าฟาร์มขึ้นอีก 4 บาท
นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์เป็นประธานการประชุมการเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาการเลี้ยงสุกรอย่างยั่งยืน โดยมีนายสัตวแพทย์บุญญกฤช ปิ่นประสงค์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์เข้าร่วมประชุมด้วย โดยหารือกับผู้แทนหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ผู้แทนสมาคมผู้เลี้ยงสุกร ผู้แทนภาคเอกชน ผู้แทนผู้เลี้ยงสุกรรายย่อย ตัวแทนจากชมรมและสหกรณ์ผู้เลี้ยงสุกรในประเทศไทย ณ ห้องประชุมพระพิรุณ กรมปศุสัตว์ พญาไท กรุงเทพฯ
ในที่ประชุมได้มีการรายงานสถานการณ์การผลิตการตลาดสุกรในปัจจุบันเพื่อหารือเกี่ยวกับการรักษาเสถียรภาพราคาสุกร การแก้ไขปัญหาวิกฤตผู้เลี้ยงสุกรขาดทุนอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนแนวทางการทำงานเพื่อพัฒนาการเลี้ยงสุกรอย่างยั่งยืน โดยการกำหนดแผนการปฏิบัติงานเป็นระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ซึ่งที่ประชุมมีมติให้ดำเนินการเบื้องต้นดังนี้
1. การจัดทำโครงการเพื่อของบประมาณในการสนับสนุนการลดประชากรสุกรในวงจรการผลิต โดยนำลูกสุกรส่วนเกินไปผลิตหมูหัน เป้าหมาย 5,000 ตัวต่อสัปดาห์ กำหนดแผนการดำเนินงาน 450,000 ตัวในระยะเวลา 3 เดือน ใช้งบประมาณทั้งสิ้น 180 ล้านบาท
2. การผลักดันการส่งออกสินค้าและผลิตภัณฑ์จากสุกรไปยังต่างประเทศ โดยกรมปศุสัตว์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการหาตลาดเพื่อการส่งออกและหาแหล่งเงินทุนเพื่อจัดสรรงบประมาณสนับสนุนส่วนต่างราคา เพื่อเพิ่มช่องทางการระบายสินค้าและจัดการอุปทานส่วนเกินภายในประเทศ ตั้งเป้าหมายในการส่งออกสุกรแปรรูปจากสุกร 60,000 ตัว ภายใน 3 เดือน
3. การดำเนินการรวบรวมข้อมูลผู้ค้าสุกรหน้าฟาร์มได้แล้ว 500 ราย ซึ่งจะรวบรวมต่อเนื่องให้ครบถ้วน โดยจะขอความร่วมมือผู้ค้าสุกรหน้าฟาร์มให้ร่วมมือกัน ดำเนินการตามโครงการรักษาเสถียรภาพราคาสุกรที่คณะกรรมการนโยบายพัฒนาสุกรและผลิตภัณฑ์ (Pig Board) ให้ความเห็นชอบแล้ว
4. การเดินหน้าปราบปรามหมูเถื่อน รวมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยการตรวจสอบห้องเย็นทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง ซึ่งขณะนี้กรมปศุสัตว์ได้รับข้อมูลห้องเย็นทั่วประเทศจากกรมโรงงานอุตสาหกรรมเรียบร้อยแล้ว
นอกจากนี้ กรมปศุสัตว์เปิดรับข้อร้องเรียน กรณีที่เกษตรกรหรือผู้บริโภค พบการขายสินค้าสุกรที่มีราคาต่ำกว่าท้องตลาดหรือมีราคาต่ำจนผิดปกติ สามารถแจ้งข้อมูลมายังช่องทางของกรมปศุสัตว์ได้ เช่น แอฟพลิเคชัน DLD4.0 สายด่านกรมปศุสัตว์ และสำนักงานปศุสัตว์ในพื้นที่ เพื่อกรมปศุสัตว์จะดำเนินการตรวจสอบตามกฎระเบียบอย่างเคร่งครัด
สำหรับการดำเนินการมาตรการเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาการเลี้ยงสุกรอย่างยั่งยืนของกรมปศุสัตว์ เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ซึ่งกำหนดมาตรการประกาศสงครามกับสินค้าเกษตรเถื่อน มุ่งปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเกษตรด้านพืช ประมง และปศุสัตว์ที่ผิดกฎหมายอย่างจริงจัง จึงได้มีประกาศคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารแก้ไขปัญหาการนำเข้าและส่งออกสินค้าเกษตรที่ผิดกฎหมาย รวมทั้งแต่งตั้งคณะทำงานแก้ไขปัญหาการนำเข้าและส่งออกสินค้าด้านปศุสัตว์ที่ผิดกฎหมายเป็นการเฉพาะ มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาการลักลอบนำเข้าและส่งออกสินค้าด้านปศุสัตว์ที่ผิดกฎหมาย กำหนดมาตรการ แนวทางการช่วยเหลือแก่เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการนำเข้าและส่งออกสินค้าปศุสัตว์ที่ผิดกฎหมาย โดยบูรณาการระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคส่วนอื่นที่เกี่ยวข้อง
นอกจากนี้ยังเป็นการดำเนินมาตรการเพื่อดูแลเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรให้มีรายได้อย่างมั่นคง ส่งเสริมให้ภาคปศุสัตว์ไทยแข็งแกร่งตามภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ตลอดจนเป็นการการขับเคลื่อนนโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาลไปสู่การปฏิบัติให้เป็นผลสำเร็จ
สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติได้ปรับเพิ่มราคาสุกรหน้าฟาร์มขึ้นอีก 4 บาทตั้งแต่วันที่ 6 พฤศจิกายน 2566 โดยระบุว่า เป็นการปรับขึ้นเพื่อลดความเสียหายจากการขายต่ำกว่าต้นทุนการเลี้ยงอย่างยาวนาน ส่งผลให้ราคาอยู่ระหว่าง 64- 72 บาท/กิโลกรัมตามแต่ละภูมิภาค ดังนี้
- ภาคตะวันตก 64-66 บาท/กิโลกรัม
- ภาคตะวันออก 66-68 บาท/กิโลกรัม
- ภาคอีสาน 68-70 บาท/กิโลกรัม
- ภาคเหนือ 70-72 บาท/กิโลกรัม
- ภาคใต้ปรับฐานเพิ่มขึ้น 4 บาท/กิโลกรัม
ทั้งนี้การปรับราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มครั้งนี้ เป็นการปรับขึ้นครั้งที่ 3 แล้ว แต่ยังต่ำกว่าต้นทุนการผลิตซึ่งคณะอนุกรรมการวิเคราะห์ต้นทุนการผลิตสุกรของ Pig Board ประเมินว่า ในไตรมาส 3/66 เฉลี่ยที่ 80.79 บาท/กิโลกรัม โดยคณะอนุกรรมการต้นทุนการผลิตสุกรมีกำหนดประชุมคาดการณ์ต้นทุนการเลี้ยงไตรมาสที่ 4/2566 ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2566 .- สำนักข่าวไทย