25 ตุลาคม 2566
แปลและเรียบเรียงบทความโดย: อดิศร สุขสมอรรถ
ตรวจทานและพิสูจน์อักษร : คมส์ธนนท์ ศุขอัจจะสกุล
ข้อมูลที่ถูกแชร์ :
มีคลิปวิดีโอสร้างความเข้าใจผิดเผยแพร่ในต่างประเทศ โดยคลิปตัวแรกอ้างว่าเป็นภาพการยิงขีปนาวุธจากฉนวนกาซาไปยังประเทศอิสราเอลในคืนที่ 2 ระหว่างสงครามอิสราเอล-ฮามาสที่เปิดฉากเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2023 ส่วนคลิปที่ 2 อ้างว่าเป็นภาพการตอบโต้ของ Iron Dome หรือระบบป้องกันภัยทางอากาศของประเทศอิสราเอล ระหว่างรับมือการโจมตีทางอากาศในช่วงสัปดาห์แรกของการโจมตี
บทสรุป :
- คลิปแรกคือการยิงขีปนาวุธในสงครามกลางเมืองของประเทศซีเรียเมื่อปี 2020
- คลิปที่สองคือการตอบโต้ของ Iron Dome ในการต่อสู้ระหว่างอิสราเอลและกลุ่มฮามาสเมื่อปี 2021
FACT CHECK : ตรวจสอบข้อเท็จจริง :
จากการตรวจสอบโดย Fact Checker ในต่างประเทศ ยืนยันได้ว่าคลิปวิดีโอทั้ง 2 ชิ้น ไม่มีความเกี่ยวข้องกับสงครามอิสราเอล-ฮามาสในช่วงเดือนตุลาคม 2023 แต่อย่างใด
คลิปวิดีโอตัวแรกนำมาจากสงครามกลางเมืองในประเทศซีเรียเมื่อปี 2020 โดยคลิปต้นฉบับระบุว่าเป็นการยิงขีปนาวุธจากประเทศซีเรียไปยังเมืองอะเลปโป เมืองทางภาคตะวันตกเฉียงเหนือของซีเรีย เพื่อโจมตีฐานที่มั่นของกลุ่มอัลกออิดะฮ์ กองกำลังติดอาวุธที่รัฐบาลประเทศตุรกีให้การสนับสนุน
แม้คลิปที่ 2 จะได้รับการยืนยันว่าเป็นการยิงขีปนาวุธโต้ตอบจากประเทศอิสราเอล หลังถูกโจมตีโดยกองกำลังติดอาวุธฮามาสจากกาซา แต่ภาพในคลิปเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือนพฤษภาคม 2021 ไม่ใช่เหตุการณ์ปัจจุบันแต่อย่างใด
คลิปต้นฉบับที่เผยแพร่ทาง Facebook ของกองกำลังป้องกันอิสราเอลหรือ IDF เมื่อวันที่ 19 พฤษภาคม 2021 ระบุว่า ขีปนาวุธจากฉนวนกาซาจำนวน 4,000 ลูกถูกยิงเข้ามายังดินแดนของอิสราเอล ซึ่งส่วนใหญ่ถูกสกัดกั้นด้วยระบบป้องกันภัยทางอากาศหรือ Iron Dome
โดยวันถัดมา อิสราเอลและฮามาสได้บรรลุข้อตกลงหยุดยิง ปิดฉากการยิงขีปนาวุธโจมตีตลอด 11 วันที่คร่าชีวิตผู้บริสุทธิ์ไปหลายร้อยราย
ข้อจำกัดของ Iron Dome
Iron Dome คือระบบป้องกันภัยทางอากาศของประเทศอิสราเอล ใช้ตอบโต้ขีปนาวุธและลูกปืนใหญ่พิสัยใกล้ ซึ่งถูกยิงจากระยะทาง 4-70 กิโลเมตร เริ่มใช้งานครั้งแรกเมื่อปี 2011
การทำงานของ Iron Dome ประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอน ได้แก่
- ระบบเรดาร์ตรวจจับขีปนาวุธ (Detection & Tracking Radar)
- ศูนย์จัดการสนามรบและควบคุมการใช้อาวุธ (Battle Management & Weapon Control)
- ฐานยิงขีปนาวุธ (Missile Firing Unit) แต่ละฐานจะมีแท่นปล่อยขีปนาวุธสกัดกั้น 3-4 แท่น แต่ละแท่นจะยิงขีปนาวุธได้ 20 นัด โดยมีความแม่นยำสูงถึง 90%
อย่างไรก็ดี ระบบ Iron Dome กลับมีข้อเสียเปรียบด้านงบประมาณ เนื่องจากมูลค่าขีปนาวุธแต่ละนัดอยู่ที่ 50,000-100,000 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกา (ประมาณ 1.7-3.5 ล้านบาท) ส่วนขีปนาวุธของกลุ่มฮามาสมีมูลค่าต่อนัดเพียง 300-800 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาเท่านั้น (ประมาณ 10,500-28,000 บาท)
อิสราเอลจึงพยายามพัฒนาระบบป้องกันภัยทางอากาศที่ใช้งบประมาณการยิงต่อครั้งให้น้อยลง นำมาซึ่งการพัฒนา Iron Beam ระบบป้องกันภัยทางอากาศที่สกัดกั้นขีปนาวุธด้วยการยิงแสงเลเซอร์ ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณในการยิงต่อครั้งเพียง 2-3 ดอลลาร์สหรัฐอเมริกาหรือประมาณ 100 บาทเท่านั้น
ข้อมูลอ้างอิง :
https://www.reuters.com/fact-check/2020-clip-shared-hamas-firing-salvo-israel-2023-2023-10-11/
https://www.politifact.com/factchecks/2023/oct/10/viral-image/old-video-mischaracterized-as-showing-hamas-attack/
https://www.politifact.com/factchecks/2023/oct/11/viral-image/israels-iron-dome-intercepts-rockets-but-this-vide/
https://www.reuters.com/fact-check/video-rockets-launched-gaza-2021-shared-2023-2023-10-12/
https://fullfact.org/online/attacks-Israel-old-video-2021/
https://en.wikipedia.org/wiki/Iron_Dome
https://www.jpost.com/arab-israeli-conflict/how-much-does-hamass-rocket-arsenal-cost-668317
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter