สบส.10 ก.ค.-กรม สบส.ห้ามธุรกิจบริการผู้สูงอายุ เช่นสถานดูแลผู้สูงอายุ หรือเนอสซิ่งโฮมที่มิได้ขออนุญาตเปิดเป็นสถานพยาบาลอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ห้ามให้บริการรักษาพยาบาล หรือทำหัตถการทาง การแพทย์ ทั้งให้น้ำเกลือ ฉีดยา ชี้ผิดกฎหมายเข้าข่ายสถานพยาบาลเถื่อน หมอเถื่อน หากตรวจพบมีโทษทั้งจำ ทั้งปรับ
นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร โฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า จากข้อมูลของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรของไทยที่เกิดขึ้นในช่วง 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ประเทศเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุ ที่มีประชากรอายุ 60 ปี มากกว่าร้อยละ 10 ซึ่งสาเหตุของการเพิ่มประชากรผู้สูงอายุอย่างรวดเร็วมาจากปัจจัยสำคัญ 2 ประการ คือ 1.การลดลงของภาวะเจริญพันธุ์หรือการเกิดน้อยลง 2.การลดภาวการณ์ตายทำให้อายุคนไทยยืนยาวขึ้น
เมื่อปี 2507อายุคาดเฉลี่ยเมื่อแรกเกิดของเพศชายอยู่ที่ประมาณ 55 ปีและเพศหญิงประมาณ 62 ปี แต่ในปี 2558อายุคาดเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นโดยเพศชายอยู่ที่ประมาณ 72 ปีเพศหญิง ประมาณ 79 ปี และคาดการณ์ว่าในปี 2568อายุคาดเฉลี่ยของเพศชายจะอยู่ที่ประมาณ 76 ปี และเพศหญิงประมาณ 83 ปี ส่งผลให้ประเทศไทยจะมีผู้สูงอายุมากกว่าร้อยละ 20 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งเป็นการก้าวเข้าสู่การเป็นสังคมผู้สูงอายุโดยสมบูรณ์ ทำให้ธุรกิจบริการสำหรับผู้สูงอายุขยายตัวอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะสถานดูแลผู้สูงอายุ หรือเนอสซิ่งโฮม ที่ให้บริการดูแลการใช้ชีวิตประจำวัน การจัดกิจกรรมสร้างสังคมระหว่างผู้สูงอายุ ดูแลสุขภาพผู้สูงอายุที่มักจะเป็นโรคเรื้อรัง อาทิ โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน ฯลฯ และบางแห่งอาจจะมีการให้บริการทางการแพทย์สำหรับผู้สูงอายุประกอบด้วย
“อย่างไรก็ตามตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล ที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ.2559 กำหนดให้การประกอบวิชาชีพเวชกรรมใดๆ ทางการแพทย์ต้องดำเนินการในสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีแพทย์ที่ได้รับวุฒิบัตร หรือหนังสืออนุมัติจากสภาวิชาชีพดูแลอย่างใกล้ชิดตลอดเวลาเปิดทำการ กรม สบส.จึงขอเน้นย้ำว่าหากสถานบริการสำหรับผู้สูงอายุแห่งใดต้องการจัดให้มีบริการด้านการแพทย์ ทั้งการให้น้ำเกลือ ฉีดยา หรือทำหัตถการทางการแพทย์ต้องขออนุญาตเปิดเป็นสถานพยาบาลที่ถูกต้องตามกฎหมายจากกรม สบส.หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดในพื้นที่ มิเช่นนั้น ถือว่ามีความผิดตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล ที่แก้ไขเพิ่มเติมฉบับที่ 4 พ.ศ.2559 ข้อหาเปิดสถานพยาบาลเถื่อน ระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ รวมทั้ง หากผู้ให้บริการมิใช่แพทย์ก็จะมีความผิดตาม พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ.2525 ข้อหาเป็นหมอเถื่อน มีโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 30,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ” นพ.ธงชัย กล่าว
ทั้งนี้ กรม สบส.อยู่ระหว่างการพัฒนากฎหมายลูก ซึ่งออกตาม พ.ร.บ.สถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 เพื่อส่งเสริมธุรกิจบริการผู้สูงอายุ ซึ่งมีการให้บริการด้านสุขภาพ ที่ไม่ใช่การบำบัดรักษาโรค หรือบริการทางการแพทย์ เพื่อให้การบริการดังกล่าวมาตรฐาน และเกิดความปลอดภัยต่อประชาชนผู้รับบริการ.-สำนักข่าวไทย