กรุงเทพฯ 9 ต.ค. – กระทรวงแรงงาน เร่งหาทางช่วยเหลือแรงงานไทยในอิสราเอล พบมีกว่า 30,000 คน อยู่ในพื้นที่เสี่ยง 5,000 คน เปิด MOU ไปได้ครั้งเดียว ไปซ้ำไม่ได้
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ย้ำอีกครั้งว่า มีคนไทยอยู่ในอิสราเอลมากกว่า 29,000 คน ในจำนวนนี้อยู่ในพื้นที่เหตุความไม่สงบประมาณ 5,000 คน คนเจ็บที่บอกในตอนแรกว่า 8 คน ตอนนี้เพิ่มเป็น 9 คน และถูกจับเป็นตัวประกัน 11 คน ส่วนการดูแลครอบครัวคนเจ็บและคนที่ถูกจับมอบหมายเจ้าหน้าที่ในแต่ละจังหวัดลงไปดูแลแล้ว พร้อมย้ำว่าขณะนี้รัฐบาลกำลังเจรจา เพื่อนำเครื่องบิน บินไปรับคนไทยกลับ แต่คนไทยชุดแรกที่พากลับได้น่าจะประมาณ 260 คน ยอมรับข้อมูลต่าง ๆ ยังไม่นิ่ง เปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาขึ้นอยู่กับสถานการณ์ว่าจะบานปลายขนาดไหน
ทั้งนี้นายพิพัฒน์อธิบายเพิ่มด้วยว่า มี 12 เอเจนซี่ที่ส่งแรงงานไทยไปทำงานที่อิสราเอล ซึ่งทุกค่ายได้ประสานกับเจ้าของกิจการอยู่ตลอด และทยอยอพยพแรงงานที่อยู่ในจุดเสี่ยงออกมาเรื่อย ๆ โดยคาดว่า 1-2 วันนี้จะสามารถอพยพออกมาได้ทั้งหมด
ส่วนศูนย์ช่วยเหลือแรงงานและติดตามสถานการณ์สู้รบในอิสราเอล ที่กระทรวงแรงงานตั้งขึ้นเพื่อให้คนไทยขอรับความช่วยเหลือในทุกช่องทาง คือ สายด่วนกรมการจัดหางาน 1694 (ตลอด 24 ชม.) / กองทุนเพื่อช่วยเหลือคนหางานไปทำงานในต่างประเทศ 02 245 6710-11 (ในเวลาราชการ) / สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัดทั่วประเทศ / กรมการกงสุล Call center 02 5728 442 (ตลอด 24 ชม.) / กองคุ้มครองและดูแลผลประโยชน์คนไทยในต่างประเทศ 0640198530, 064069 8907
ส่วนช่องทางช่วยเหลือแรงงานไทยที่อิสราเอล ได้แก่ สถานทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ โทร +972 546368150 (ตลอด 24 ชม.) และฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ โทร +972 544693476 / What app ID : 0544693476 / Line ID : 0544693476 (ตลอด 24ชม.)
ส่วนเรื่องสิทธิประโยชน์ต่างๆ กรณีบาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากสงคราม นายพิพัฒน์อธิบายเพิ่มภายหลังประชุมศูนย์ช่วยเหลือแรงงานว่า แรงงานที่ขึ้นทะเบียนและไปทำงานอย่างถูกกฎหมายตามที่รัฐบาลไทยทำ MOU กับอิสราเอล หากกลับประเทศเนื่องจากภาวะสงคราม จะได้รับเงินสงเคราะห์ 15,000 บาท พิการ 15,000 บาท ทุพพลภาพ 30,000บาท เสียชีวิต 40,000 บาท ส่วนค่าใช้จ่ายในการจัดการศพในต่างประเทศ จ่ายตามจริง ไม่เกิน 40,000 บาท
นอกจากนี้ยังมีสิทธิประโยชน์จาก National Insurance Institute กรณีบาดเจ็บหรือพิการ หากบาดเจ็บ 0-10% ไม่ได้รับค่าตอบแทน บาดเจ็บ 10-19% ได้รับเงินก้อนเดียว ไม่เกิน 150,000 เชคเกล (ประมาณ 1,440,000 บาท) บาดเจ็บเกิน 20% ได้เงินรายเดือนทุกเดือนจนกว่าจะเสียชีวิต โดยคำนวณตามเปอร์เซ็นต์สูญเสีย และกรณีเสียชีวิต ภรรยาและลูกจะได้รับเงินช่วยเหลือทุกเดือน จนกว่าภรรยาจะแต่งงานใหม่ หรือลูกมีอายุครบ 18 ปี โดยภรรยาจะได้รับเงินสงเคราะห์ 60% ของ 6,000 เชคเกล ทุกเดือน (ประมาณ 34,560 บาท/เดือน) ส่วนบุตรอายุไม่เกิน 18 ปี จะได้รับเงินสงเคราะห์ 10-20% ของ 6,000 เชคเกลทุกเดือน (5,760 – 11,520 บาท/เดือน)
ซึ่งปัจจุบันมีแรงงานไทยที่ทำงานอยู่ในอิสราเอลเกือบ 30,000 คน ในจำนวนนี้อยู่ในพื้นที่ความไม่สงบราว 5,000 คน ส่วนใหญ่ไปทำงานในภาคการเกษตร มีรายได้เฉลี่ยอย่างน้อยคนละ 55,000 บาท/เดือน ทั้งนี้ตาม MOU ที่รัฐบาลไทยทำร่วมกับรัฐบาลอิสราเอล แรงงานไทยแต่ละคนจะมีสิทธิไปทำงานในอิสราเอลได้แค่ครั้งเดียวเป็นระยะเวลา 5 ปี 3 เดือน ไม่สามารถไปซ้ำได้
โดยในขั้นตอนของการเดินทางไปทำงาน แรงงานแต่ละคนจะมีค่าใช้จ่าย คือ ค่าธรรมเนียมตรวจสอบประวัติอาชญากรรม 100 บาท ค่าธรรมเนียนการขอรับหนังสือเดินทาง 1,500 บาท ค่าตรวจสุขภาพ 3,250 บาท ค่าตั๋วเครื่องบินเที่ยวเดียวจากไทยไปอิสราเอล 25,000 บาท ค่าสมาชิกกองทุนช่วยเหลือคนหางานในต่างประเทศ 400 บาท ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ด 770 บาท ค่าใช้จ่ายหลังเดินทางถึงอิสราเอล 40,000 บาท รวม 71,020 บาท .-สำนักข่าวไทย