กทม. 6 ก.ค. – เจาะลึกขั้นตอนการเลือกประธานศาลฎีกาคนใหม่ และคณะกรรมการตุลาการที่ทำหน้าที่เห็นชอบผู้ที่จะดำรงตำแหน่งประธานศาลฎีกา ประมุขสูงสุดของวงการตุลาการ 1 ใน 3 อำนาจหลักในการบริหารของไทย
การเลือกประธานศาลฎีกาคนใหม่จะมีการเสนอบัญชีรายชื่อให้ ก.ต.ชุดใหญ่พิจารณาเห็นชอบในวันที่ 11 กรกฎาคม โดยขั้นตอนปฏิบัติและธรรมเนียมปฏิบัติ ส่วนใหญ่สำนักงานศาลยุติธรรมจะเสนอบัญชีรายชื่อที่พิจารณาถึงหลักอาวุโสเป็นสำคัญ หลังจากนั้นจะมีการประชุมกลั่นกรองคุณสมบัติโดยคณะอนุ ก.ต. 3 ชั้นศาล ประกอบด้วย ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกา ชั้นศาลละ 7 คน รวม 21 คน และมีอนุ ก.ต.ชั้นศาลฎีกาผู้ที่มีอาวุโสสูงสุด 1 คน ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม
หากยกตัวอย่างการประชุมพิจารณาเพื่อหาประธานศาลฎีกาคนที่ 44 ครั้งที่ผ่านมา ปรากฏว่าลากยาวมาถึง 4 นัด ตั้งแต่วันที่ 22, 26, 28 และ 29 มิถุนายน กระทั่งเมื่อวันที่ 3 กรกฎาคม ปรากฏภาพชัดเจนขึ้น เมื่อคณะกรรมการตุลาการฯ ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิชั้นศาลฎีกา 6 คน ศาลอุทธรณ์ 4 คน ศาลชั้นต้น 2 คน และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากวุฒิสภาอีก 2 คน ซึ่งมีนายวีระพล ตั้งสุวรรณ ประธานศาลฎีกา เป็นประธาน มีมติเอกฉันท์ไม่ผ่านบัญชีเสนอชื่อ “นายศิริชัย วัฒนโยธิน” เพราะแม้มีอาวุโสสูงสุดตามแต่ความเหมาะสมและการบริหารงานยังไม่ผ่านเกณฑ์
ทั้งนี้ การพิจารณาบัญชีรายชื่อเสนอเป็นประธานศาลฎีกาจะเสนอเพียงบัญชีเดียวแค่ 1 รายชื่อเท่านั้น จะไม่เสนอชื่อผู้พิพากษาที่มีอาวุโสรองลงมาแข่งขันกัน เพื่อมีมติของอนุ ก.ต. ว่าผ่านหรือไม่ผ่านการเห็นชอบ หากผ่านผู้พิพากษาที่มีชื่อในบัญชีเสนอเป็นประธานศาลฎีกาก็จะได้รับการแต่งตั้งตามขั้นตอน แต่หาก ก.ต.ชุดใหญ่ มีมติเสียงข้างมากไม่ผ่านบัญชีชื่อดังกล่าว ก็ต้องย้อนไปเริ่มกระบวนการเสนอบัญชีรายชื่อใหม่ โดยสำนักงานศาลยุติธรรมจะเสนอชื่อให้อนุ ก.ต. ทั้ง 21 คน พิจารณาใหม่อีกครั้ง ซึ่งจะพิจารณาถึงหลักความอาวุโสโดยผู้พิพากษาที่มีอาวุโสลำดับถัดไป คือรองประธานศาลฎีกาลำดับที่ 1 และกระบวนการคัดเลือกจะปฏิบัติเช่นนี้ต่อไป จนกว่า ก.ต.ชุดใหญ่จะมีมติผ่านบัญชีรายชื่อผู้พิพากษาที่จะแต่งตั้งเป็นประธานศาลฎีกา.-สำนักข่าวไทย