กทม. 23 ก.ย.- สหกรณ์ เสนอรัฐบาลแก้หนี้ครู เจรจาสถาบันการเงินขอลดดอกเบี้ยไม่เกินร้อยละ 4.5 กำหนดเพดานกู้ได้ไม่เกิน70% ของรายได้ ไม่ลดดอก ระบบไม่หักเงินเดือนจ่าย ไล่บี้กันเอง
นายณรินทร์ ชำนาญดู ผู้อำนวยการโรงเรียนกาญจนานุเคราะห์ ในฐานะนายกสมาคมผู้บริหารโรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งประเทศไทย (ส.บ.ม.ท.) ประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ครูกาญจนบุรี เปิดเผยกับกองบรรณาธิการข่าววิทยุ สำนักข่าวไทย ว่า สหกรณ์ออมทรัพย์ครูกาญจนบุรี ดูแลเงิน 14,000 กว่าล้านบาท สหกรณ์เป็นเจ้าหนี้รายใหญ่ของครู ร้อยละ 64 ของหนี้ทั้งหมด คิดดอกเบี้ย ร้อยละ 5.6 ธนาคารออมสิน มีครูเป็นหนี้อยู่ร้อยละ 28 คิดดอกเบี้ยร้อยละ 6.9 ธนาคารกรุงไทย มีครูเป็นหนี้ ร้อยละ 4 คิดดอกเบี้ย ร้อยละ 7.12 และ ธอส. มีครูเป็นหนี้ ร้อยละ 4 คิดดอกเบี้ย ร้อยละ 6.4
สำหรับหนี้ครูนั้นต้องแยกประเภท เช่น หนี้จากการกู้ซื้อบ้าน ซื้อที่ดิน หนี้จากการกู้ยืมเรียน กยศ. กู้เพื่อดูแลครอบครัว นอกจากนี้ยังมีหนี้ที่ไม่ได้เกิดจากครู คือ หนี้ประเภทที่เกิดจากการค้ำประกัน เช่นค้ำประกันกู้ซื้อรถไถให้ชาวบ้าน แต่หนี้ที่มีปัญหาคือหนี้ของคนไม่วินัยการเงิน การใช้จ่ายฟุ่มเฟือย เล่นการพนัน ลอตเตอรี่ และหนี้นอกระบบ สิ่งที่ขอรัฐช่วยเหลือ คือ ครูที่เป็นหนี้จากการไม่มีวินัยทางการเงิน ซึ่งมีกว่า 4 แสนราย
ข้อเสนอแก้ปัญหาหนี้ครู ได้แก่
- รัฐบาลและกระทรวงศึกษาธิการ ต้องเป็นเจ้าภาพรวมหนี้ครู ให้ผ่อนจ่ายจากสถาบันการเงินเดียว
- ทำข้อตกลงกับสถาบันการเงิน สหกรณ์ต่างๆ ให้กำหนดเพดานดอกเบี้ยการกู้สินเชื่อสวัสดิการครู ให้ไม่เกิน 4.5% ไม่สูงจนสร้างภาระจนครูเกินไป
- กำหนดเพดานความสามารถกู้ ไม่เกิน 70% ของรายได้ เพื่อให้อีก 30% เพียงพอต่อค่ากินค่าอยู่
- กระทรวงศึกษาธิการ ต้องเรียกสถาบันการเงิน ขอลดดอกเบี้ยในกลุ่มที่มีหนี้สินเกิน 70%ของเงินเดือน ใช้ข้อเสนอหากยอมลดดอกเบี้ย จะดำเนินการหักเงินเดือนผ่อนชำระเงินกู้ตามเดิม แต่หากไม่ยอมลดดอกเบี้ย ครูจะต้องนำเงินส่งสถาบันการเงินเอง โดยไม่หักผ่านเงินเดือน ให้ธนาคารไปไล่ทวงกับลูกหนี้เอง
นายณรินทร์ ชำนาญดู ระบุว่า หากรัฐบาลและกระทรวงศีกษาธิการ ดำเนินการตามข้อเสนอนนี้ เชื่อว่าจะสามารถช่วยแก้ปัญหาหนี้ครู ลดการเพิ่มหนี้ และครูสามารถมีกำลังในการชำระหนี้ได้มากขึ้น .-สำนักข่าวไทย