รัฐสภา 21 ก.ย. – “ก้าวไกล” เสนอร่าง พ.ร.บ.ฉุกเฉิน กำหนดให้ขออนุมัติจาก ครม.-สภาฯ พร้อมทำแผนชี้แจงเหตุคลายวิกฤติ เพื่อตรวจสอบถ่วงดุล และเอาผิดเจ้าหน้าที่ที่กระทำผิดได้
นายรังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พร้อม สส.พรรคก้าวไกล แถลงข่าวยื่นร่าง พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เข้าสภาผู้แทนราษฎร พิจารณาสืบเนื่องจากการตั้งกระทู้ถามสดต่อนายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี หยิบยกปัญหาการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ มีมาอย่างยาวนาน อีกทั้งยังมีการประกาศใช้ในสถานการณ์ทางการเมืองหลายครั้ง และในช่วงสถานการณ์ โควิด-19 โดยเป็นไปในลักษณะการปราบปรามผู้ชุมนุมเห็นต่างทางการเมือง โดยมองว่าการประกาศใช้ปราศจากการถ่วงดุลตรวจสอบของสภาผู้แทนราษฎร ปัญหาทั้งหมดที่มี จึงได้เสนอร่าง พ.ร.บ.บริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน เพื่อให้มีกฎหมายทำให้สภาฯ สามารถตรวจสอบฝ่ายบริหาร
โดยร่างดังกล่าวมีสาระสำคัญ คือ 1.การประกาศ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน ยังคงอำนาจนายกรัฐมนตรีในการประกาศ มีเงื่อนไขต้องขออนุมัติ ครม.ภายใน 3 วัน และต้องขออนุมัติจากสภาฯ ภายใน 7 วัน เพื่อให้ สส. ตรวจสอบ 2.ในการขออนุมัติจากสภาฯ รัฐบาลต้องทำแผนชี้แจงเพื่อให้เห็นว่าจะแก้วิกฤตสถานการณ์ฉุกเฉินอย่างไร เพราะที่ผ่านมาสภาฯ ไม่เคยรับรู้ 3.พ.ร.ก.ฉุกเฉินปัจจุบัน ศาลปกครองไม่มีอำนาจตรวจสอบ และกฎหมายที่เสนอนั้นให้อำนาจประธานสภาฯ ผู้ตรวจการแผ่นดิน กสม. สามารถร้องศาลปกครอง ว่าการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีเหตุให้ประกาศหรือไม่ และ 4. ในกฎหมายนี้หากเป็นการใช้อำนาจไม่ถูกต้อง สามารถดำเนินคดีต่อเจ้าหน้าที่ผู้นั้นได้
นายรังสิมันต์ ย้ำหลักการเสนอกฎหมายตามหลักการสากล เพื่อให้ประเทศไทยนำไปสู่การคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ควบคู่กับการใช้อำนาจพิเศษ โดยหวังว่ากฎหมายฉบับนี้จะได้รับการสนับสนุนจาก สส. โดยเฉพาะ สส.พรรคเพื่อไทย แม้ขณะนี้พรรคเพื่อไทย เป็นรัฐบาลแล้วจะไม่ทำให้จุดยืนเรื่องนี้เปลี่ยนไปจากที่เคยสนับสนุน
นายรังสิมันต์ ชี้แจงเพิ่มเติมว่า รัฐบาลยังมีอำนาจใช้กฎหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน อยู่ สามารถใช้ควบคู่กับร่างกฎหมายที่เสนอเข้าสู่สภาฯ ฉบับนี้ ให้อำนาจรัฐสภาตรวจสอบความจำเป็นในการประกาศ ซึ่งกำหนดไว้ 30 วัน และสามารถต่ออายุได้ โดยประเทศต่างๆ ก็เป็นเช่นนี้ กรอบเวลาทำให้มั่นใจต่อสถานการณ์ที่จะแก้วิกฤติได้ เชื่อว่ากฎหมายฉบับนี้จะส่งเสริมให้รัฐบาลใช้อำนาจเป็นที่ยอมรับ.-สำนักข่าวไทย