กรุงเทพฯ 20 ก.ย. – “SPCG” ชี้ลดค่าไฟฟ้า 3.99 บาท เป็นการช่วยเหลือระยะสั้น แนะปรับโครงสร้างค่าไฟเพื่อความมั่นคงระยะยาว
นางวันดี กุญชรยาคง จุลเจริญ ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสพีซีจี จำกัด (มหาชน) หรือ “SPCG” กล่าวถึงกรณีรัฐบาลประกาศปรับลดค่าไฟฟ้าลงเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ว่าไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัท ซึ่งต้องชื่นชมนายกฯ เศรษฐา ที่ทำตามที่ได้หาเสียงไว้ เพราะการลดค่าไฟฟ้าส่งผลดีต่อประชาชนและภาคอุตสาหกรรม เพราะทำให้ต้นทุนค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของประชาชนและภาคอุตสาหกรรมลดลง แต่ทั้งนี้อยากจะเห็นความมั่นคงระยะยาว ซึ่งการจะมั่นคงในระยะยาวได้ต้องมีนโยบายปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้า เพราะโครงสร้างต่างๆ ยังเป็นของเดิม ดังนั้น มาตรการลดราคาพลังงานที่ออกมาล่าสุดเป็นเพียงการแบ่งเบาภาระประชาชนระยะสั้น และอาจสร้างภาระหนี้ให้กับภาครัฐ จึงจำเป็นต้องมีนโยบายการปรับโครงสร้างค่าไฟ เพื่อให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว พร้อมขอให้รัฐบาลปลดล็อกกฎระเบียบหลายอย่างที่มีความยุ่งยากและเป็นอุปสรรคในการสนับสนุนพลังงานสะอาดในปัจจุบัน ซึ่งอาจจะทำให้เกิดการเคลื่อนย้ายการลงทุนไปที่อื่น
“การจะขอติดตั้งโซลาร์เซลล์ต้องใช้เวลานานถึง 2 ปี การจะผลักดันให้ประเทศไปถึงเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน สู่เป้าหมาย Net Zero ต้องลดช่องว่าง จึงอยากฝากไปถึงนายกฯ ซึ่งเชื่อมั่นใน vision ว่าจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีในภาคพลังงานในอนาคต” นางวันดี กล่าว
ส่วนผลการดำเนินงานปี 2566 คาดว่าจะเติบโตมากกว่าปีที่แล้ว ตามการรับรู้รายได้ธุรกิจ Solar Roof ของบริษัท โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟ จำกัด (SPR) ซึ่งเป็นบริษัทย่อย เนื่องจากในช่วงต้นปีค่าพลังงานมีราคาสูงมาก หลายองค์กรติดตั้ง Solar Roof ซึ่งขณะนี้บริษัทติดตั้ง Solar Roof ได้เกินเป้า 1,000 ล้านบาท ของปีนี้ไปแล้ว
ส่วนความคืบหน้าโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาดกำลังการผลิต 500 เมกะวัตต์ สำหรับใช้ในพื้นที่เมืองใหม่ เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งล่าช้ามากว่า 3 ปี เนื่องจากอยู่ในระหว่างการขอใบอนุญาตจาก EEC หากได้รับใบอนุญาตแล้วการก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 1 ปี โดยบริษัทได้ซื้อที่ดินจำนวน 3,000 ไร่ กระจายใน 3 จังหวัดพื้นที่ EEC ใช้
นอกจากนี้บริษัทยังอยู่ระหว่างการก่อสร้างโครงการโซลาร์ฟาร์มที่เกาะฟุกุชิมะ ประเทศญี่ปุ่น ขนาดกำลังการผลิต 480 เมกะวัตต์ มูลค่าโครงการราว 5-6 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นโครงการเมกะโซลาร์ฟาร์มที่ใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่น มีกำหนดดำเนินการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ปี 2568.-สำนักข่าวไทย