รัฐสภา 30 มิ.ย.- สนช.รับหลักการร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ วาระแรก ขณะที่ ประธาน กรธ.ย้ำ จำเป็นต้องเซ็ตซีโร่ กสม.ชุดปัจจุบัน เพื่อให้นานาชาติยอมรับ หลังถูกลดเกรดการประเมินผล
ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วันนี้ (30 มิ.ย.) มี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. เป็นประธาน พิจารณาร่าง พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) วาระแรก มีสาระสำคัญ คือ การเซ็ตซีโร กสม.ชุดปัจจุบัน โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) นำทีม กรธ. ชี้แจงต่อที่ประชุม สนช. ถึงการจัดทำร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าว
นายมีชัย กล่าวว่า การยกร่างของ กรธ. ยึดหลักรัฐธรรมนูญและหลักการปารีส ที่ไทยเข้าร่วมเป็นภาคี เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของนานาชาติ ยอมรับว่า ในร่างกฎหมาย จำเป็นต้องกระทบสิทธิของบางบุคคล แต่ก็ต้องดำเนินการ เพื่อประโยชน์ของประเทศชาติ โดยการที่กำหนดให้เซ็ตซีโร่ กสม.ชุดปัจจุบันนั้น เป็นเพราะ กสม.มีปัญหา ที่ถูกลดเกรดจากการประเมินผล ด้วยเหตุผลที่ว่า กระบวนการสรรหาที่ผ่านมา ไม่เปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วม และไม่เป็นไปตามกติกาปารีส
“ไม่ว่า กสม.ชุดปัจจุบันจะมีคุณสมบัติดีอย่างไร ก็ยังมีปัญหา เพราะนานาชาติยังมองว่า มาจากรัฐธรรมนูญเก่า ทางเดียวที่ทำได้ คือ ต้องให้สรรหา กสม.ใหม่ทั้งหมด” นายมีชัย กล่าว
นายมีชัย ยืนยันว่า กสม. ถือเป็นองค์กรอิสระแล้ว นับตั้งแต่รัฐธรรมนูญบังคับใช้ แต่ก็มีปัญหาว่า กสม.ชุดปัจจุบัน จะใช้สิทธิความไม่เป็นองค์อิสระตามรัฐธรรมนูญเก่า กลับมาสมัครเข้ารับการสรรหาใหม่ได้หรือไม่ ซึ่งก็ต้องขึ้นอยู่กับการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ
นายมีชัย กล่าวว่า ส่วนกรณีที่มีข้อสงสัยว่า เหตุใด กสม.ในร่างกฎหมายฉบับนี้ ไม่มีภูมิคุ้มกันนั้น กรธ.เห็นว่า หากเจ้าหน้าที่ของรัฐดำเนินการใดๆอย่างสุจริต ก็จะได้รับการคุ้มกันตามกฎหมายอยู่แล้ว จึงไม่ได้เขียนไว้ในร่าง แต่หากกรรมาธิการที่พิจารณาร่างกฎหมายดังกล่าว ต้องการจะบัญญัติเพิ่ม กรธ.ก็ไม่ขัดข้อง
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ร่าง พ.ร.ป.ฉบับนี้ ยังบัญญัติให้คณะกรรมการสรรหา กสม. มีตัวแทนจากองค์กรวิชาชีพต่างๆ ได้แก่ ผู้แทนองค์กรเอกชนด้านสิทธิมนุษยชน ผู้แทนสภาทนายความ ผู้แทนสภาวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุขและ ผู้แทนสภาวิชาชีพสื่อมวลชน เป็นกรรมการ ร่วมกับประธานศาลฎีกา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ผู้นำฝ่ายค้านในสภาฯ ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เพื่อให้มีความหลากหลาย
ขณะที่ สมาชิก สนช.ส่วนใหญ่ ยังติดใจประเด็นการเซ็ตซีโร่ กสม.ชุดปัจจุบัน ว่าเหตุใดจึงเลือกเซ็ตซีโร่เฉพาะบางองค์กร แต่ที่สุดแล้วที่ประชุม สนช.มีมติรับหลักการร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าว ด้วยคะแนน 190 เสียง งดออกเสียง 4 เสียง ไม่ลงคะแนน 1 เสียง พร้อมตั้งกรรมาธิการวิสามัญพิจารณา จำนวน 24 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 7 วัน ระยะเวลาการดำเนินงาน 45 วัน .- สำนักข่าวไทย