กรุงเทพฯ 29 มิ.ย. – บีโอไอเผยผลสำรวจความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติในไทยปี 60 นักลงทุนร้อยละ 35.7 มีแผนจะขยายการลงทุนเพิ่มในไทย และอีกร้อยละ 62.5 ยังเดินหน้าลงทุนในไทยตามแผนเดิม ชู 3 ปัจจัยหลักตัดสินใจลงทุน ความพร้อมด้านอุตสาหกรรมสนับสนุน โครงสร้างพื้นฐาน และสิทธิประโยชน์ทางภาษี
นางสาวบงกช อนุโรจน์ ที่ปรึกษาด้านการลงทุน สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยถึงผลการสำรวจความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติในประเทศไทยประจำปี 2560 จาก 600 บริษัทที่ตอบแบบสอบถาม พบว่า นักลงทุนต่างชาติมีความเชื่อมั่นต่อประเทศไทย โดยนักลงทุนต่างชาติร้อยละ 35.7 มีแผนที่จะขยายการลงทุนในประเทศไทย ซึ่งมีสัดส่วนสูงกว่าการสำรวจปี 2559 และ 2558 ที่มีสัดส่วนนักลงทุนที่ต้องการขยายการลงทุนอยู่ที่ร้อยละ 32.5 และ 25.2 ตามลำดับ ขณะเดียวกันนักลงทุนอีกร้อยละ 62.5 จะเดินหน้าลงทุนในไทยตามแผนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง ส่วนนักลงทุนที่มีแผนปรับการลงทุนตามสภาวะธุรกิจมีสัดส่วนเพียงร้อยละ 1.5 เท่านั้น
สำหรับปัจจัยที่ทำให้นักลงทุนวางแผนจะขยายการลงทุน รวมทั้งยังคงเดินหน้าลงทุนในประเทศไทยตามแผนเดิม พบว่า ปัจจัยสำคัญ 3 ลำดับแรก คือ การมีซัพพลายเออร์ที่เพียงพอ ร้อยละ 50.9 ตามด้วยการมีโครงสร้างพื้นฐานที่เพียงพอร้อยละ 50.6 และมีสิทธิประโยชน์ทางภาษีที่จูงใจให้เกิดการลงทุนในประเทศไทยร้อยละ 49.2
“ปัจจัยด้านอุตสาหกรรมสนับสนุนทั้งการมีซัพพลายเออร์ที่เพียงพอ และการมีผู้ผลิตชิ้นส่วนและวัตถุดิบที่เพียงพอ ถือเป็นจุดแข็งของประเทศไทย ขณะที่ปัจจัยด้านโครงสร้างพื้นฐานส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเร่งผลักดันโครงการลงทุนขั้นพื้นฐานของรัฐบาล และปัจจัยด้านสิทธิประโยชน์ทางภาษีนั้นมาจากมาตรการส่งเสริมการลงทุนใหม่ ๆ ของบีโอไอ” นางสาวบงกช กล่าว
นอกจากนี้ การสำรวจยังสอบถามถึงความพึงพอใจต่อบริการของบีโอไอ พบว่า นักลงทุนส่วนใหญ่พึงพอใจต่อบริการที่ได้รับจากศูนย์บริการวีซ่าและใบอนุญาตทำงาน และบริการจากศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน หรือ OSOS มากที่สุด ขณะที่สิ่งที่นักลงทุนต้องการให้รัฐบาลเพิ่มประสิทธิภาพเพื่อเสริมสร้างบรรยากาศการลงทุนให้ดีขึ้น ได้แก่ ควรยกเลิกใบอนุญาตหรือกระบวนการต่าง ๆ ที่ไม่จำเป็น ปรับปรุงระบบการศึกษาและการฝึกอบรมให้ตรงกับความต้องการของภาคธุรกิจ เป็นต้น
สำหรับผลสำรวจที่มาจากการสัมภาษณ์เชิงลึกรายบริษัทจาก 25 บริษัท พบว่า นักลงทุนต่างชาติในประเทศไทยแสดงความเห็นด้วยกับนโยบายและมาตรการทางเศรษฐกิจของภาครัฐ และคาดหวังว่านโยบายและมาตรการต่าง ๆ จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจให้ดีขึ้น นอกจากนี้ นักลงทุนต่างชาติยังเห็นว่า รัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐสามารถให้บริการอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จากการนำระบบบริการออนไลน์มาใช้และบริการแบบเบ็ดเสร็จ ณ จุดเดียว หรือ One Stop Services ทำให้นักลงทุนได้รับความสะดวกสบายและลดต้นทุนในด้านเวลาและการเดินทาง.-สำนักข่าวไทย