🎯 มีคำอธิบายจากผู้เชี่ยวชาญ นพ.กันย์ พงษ์สามารถ กุมารแพทย์โรคภูมิแพ้ และรูมาติสซั่ม สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข
มีการแชร์ 7 สัญญาณบ่งบอกโรค SLE บนสื่อสังคมออนไลน์
ข้อ 1 มีไข้เรื้อรังไม่ทราบสาเหตุ
จริง… ผู้ป่วยโรค SLE สามารถพบอาการไข้ได้บ่อย แต่สามารถพบผู้ป่วยโรคอื่นที่มีไข้อ่อนเพลียได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มโรคมะเร็ง ก็มีอาการไข้อ่อนเพลียเรื้อรังนำมาได้เหมือนกัน
ข้อ 2 เบื่ออาหาร น้ำหนักลด
เบื่ออาหาร น้ำหนักลด เป็นอาการแสดงของผู้ป่วยโรค SLE ได้ แต่พบในโรคอื่นได้เหมือนกัน
ข้อ 3 มีผื่นขึ้นที่หน้าและร่างกาย โดยไม่ได้เกิดจากอาการแพ้
เรื่องนี้ถูก เพราะอาการผื่นขึ้นเป็นอาการที่พบบ่อยอย่างหนึ่งในผู้ป่วยโรค SLE โดยเฉพาะผื่นไวแสง อย่างไรก็ตาม โรคที่เกิดผื่นไวแสง ยังมีโรคอื่น ๆ อีกที่ไม่ใช่โรค SLE
ข้อ 4 มีอาการปวดบวมตามข้อ โดยเฉพาะตอนเช้าหรือตอนตื่นนอน
อาการปวดตามข้อ อาจจะเกิดจากการใช้งานก็ได้ แต่ลักษณะที่บอกว่าเป็นตอนเช้า ที่เรียกว่า Morning sickness เป็นลักษณะอย่างหนึ่งที่จะทำให้สงสัยว่าเป็นกลุ่มอาการปวดข้อจากการอักเสบ (inflammatory joint pain) ซึ่งโรค SLE ก็เป็นหนึ่งในโรคแพ้ภูมิตัวเองที่ปรากฏอาการนี้บ่อย แต่ยังมีกลุ่มโรคอื่น ๆ อีกที่มีอาการอย่างนี้ได้
ข้อ 5 ผมร่วงมากกว่าปกติ
ผมร่วงเป็นอาการหนึ่งที่พบบ่อยในผู้ป่วยโรค SLE แต่ในภาวะอื่น ๆ ที่อาจจะพบผมร่วงได้มากกว่าผู้ป่วยโรค SLE
ข้อ 6 มีสภาวะเลือดจาง เม็ดเลือดขาวต่ำ เกล็ดเลือดต่ำ ถ้าโรครุนแรงอาจมีเม็ดเลือดแดงแตก ปอดอักเสบ ไตอักเสบ
เป็นอาการของผู้ป่วยโรค SLE ที่พบได้บ่อยเหมือนกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในคนเอเชีย ที่พบอาการทางระบบเลือดสูงกว่าในคนชาติตะวันตก อาการเหล่านี้ที่พบเห็นบ่อย ๆ อาจจะเป็นเรื่องของหลอดเลือดจาง เกล็ดเลือดต่ำ ซึ่งลักษณะเหล่านี้อาจพบในโรคอื่น ๆ ได้ด้วย เช่น การติดเชื้อไวรัสบางชนิดก็มีลักษณะพวกนี้ได้
ข้อ 7 มีแผลในปาก
แผลในปากเป็นกลุ่มอาการหนึ่งที่อยู่ในเกณฑ์การวินิจฉัยผู้ป่วยโรค SLE
จริง ๆ แล้วการเกิดแผลในปากเป็นอาการที่ผู้ป่วยบอกหมอน้อย เพราะส่วนใหญ่แผลที่เกิดจากโรค SLE ไม่ค่อยเจ็บ หมอต้องอ้าปากตรวจดูเอง แต่แผลในปากที่เกิดจากสาเหตุอื่นอาจจะเจ็บมากกว่า
การวินิจฉัยโรค SLE
โดยรวมแล้ว ไม่มีอาการที่จำเพาะกับโรค SLE เพราะฉะนั้น เกณฑ์การวินิจฉัย นอกจากจะมีอาการที่สามารถจะเข้ากับโรค SLE ได้แล้ว ยังต้องมีการตรวจเรื่องความผิดปกติของภูมิคุ้มกันร่วมด้วย ว่ามีการสร้างภูมิคุ้มกันชนิดที่จำเพาะกับโรค SLE และมีผลที่ตามมาของโรค SLE เช่น โปรตีนคอมพลีเมนต์ ไขมันในเลือดต่ำ ต้องใช้ผลเรื่องเหล่านี้ช่วยในการวินิจฉัย
การตรวจร่างกายประจำปีอาจช่วยให้พบโรค SLE ได้ก่อน
บางครั้งการไปตรวจร่างกายประจำปี ไม่มีอาการอะไรเลย เมื่อไปเจาะเลือดสงสัยว่าทำไมเม็ดเลือดขาวบางตัวต่ำ มีเกล็ดเลือดต่ำ คุณหมอก็จะต้องคัดกรองและตรวจเพิ่มเติม บางคนการวินิจฉัยโรค SLE ตั้งแต่ตรวจร่างกายประจำปียังไม่ปรากฏอาการเลยก็มี
สามารถประเมินอาการเบื้องต้นด้วยตัวเองได้มั้ย
ในเว็บเพจของมูลนิธิ Lupus Foundation of America มีแบบสอบถามให้เข้าไปทำ มีการถามถึงอาการต่าง ๆ เหล่านี้ ถ้ามีอาการเข้าได้กับโรค SLE หลายข้อพร้อมกัน ต้องรีบไปพบแพทย์ หรือมีอาการบางอย่างที่คล้าย ๆ โรค SLE แต่ก็ยังไม่ชัดเจนให้ไปปรึกษาแพทย์ ส่วนใหญ่การคัดกรองจากแบบสอบถามก็จะสรุปได้ประมาณนี้
ดังนั้น จึงควรสังเกตอาการและความผิดปกติของร่างกาย ว่าตัวเราหรือคนที่เราดูแลมีอาการอะไรเปลี่ยนไป เราก็ไม่ควรละเลย รีบไปพบแพทย์ ถึงแม้จะถูกวินิจฉัยเป็นโรคอื่นที่ไม่ใช่ SLE ก็จะได้รับการรักษาและมีผลลัพธ์ที่ดีกว่าการปล่อยปละละเลย
การใส่ใจและไม่ละเลยความผิดปกติ ทำให้เราได้รับการวินิจฉัยและรักษาอย่างรวดเร็ว
ดูเพิ่มเติมรายการ “ชัวร์ก่อนแชร์” https://www.youtube.com/watch?v=v8ZzRbmbma8
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter