กาฬสินธุ์ 29 ก.ค.-ไทยพบฟอสซิลไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลกที่ จ.กาฬสินธุ์ อายุ 150 ล้านปี มีชีวิตในยุคจูแรสซิกตอนปลาย โดยเป็นไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลก ตั้งชื่อว่า “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” กรมทรัพยากรธรณีเชื่อว่าแหล่งขุดค้นภูน้อย อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์ จะยังคงมีซากดึกดำบรรพ์เต็มทั้งพื้นที่
นักบรรพชีวินวิทยาขุดค้นซากดึกดำบรรพ์หรือฟอสซิลโครงกระดูกไดโนเสาร์ที่สมบูรณ์ที่สุดตัวหนึ่งของไทยและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อย ต.ดินจี่ อ.คำม่วง จ.กาฬสินธุ์
รองศาสตราจารย์มงคล อุดชาชน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและการศึกษาบรรพชีวินวิทยา มหาวิทยาลัยมหาสารคาม กล่าวว่า ศึกษาวิจัยและขุดค้นฟอสซิลที่ภูน้อยร่วมกับกรมทรัพยากรธรณีมาหลายสิบปี ก่อนหน้านี้พบฟอสซิลสัตว์มีกระดูกสันหลังสายพันธุ์ใหม่ของโลก 7 สายพันธุ์ ล่าสุดพบไดโนเสาร์เป็นสายพันธุ์ที่ 8 โดยเป็นไดโนเสาร์ชนิดใหม่ของโลกและเป็นตัวที่ 13 ของไทย ตั้งชื่อว่า “มินิโมเคอร์เซอร์ ภูน้อยเอนซิส” หมายถึง นักวิ่งขนาดเล็กจากแหล่งภูน้อย
ฟอสซิลที่ขุดค้นพบมีอายุราว 150 ล้านปี สภาพโครงกระดูกเรียงต่อกัน ตั้งแต่ชิ้นส่วนกะโหลก กระดูกสันหลังส่วนคอ ไปจนถึงโคนหาง มือซ้าย กระดูกเชิงกราน ขาหลังทั้งสองข้าง แม้กระทั่งเอ็นกระดูกบริเวณสันหลัง ขนาดลำตัวเพียง 60 เซนติเมตร เป็นไดโนเสาร์กินพืชขนาดเล็ก กลุ่มสะโพกคล้ายนกหรือออร์นิธิสเชียนที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีความใกล้ชิดไดโนเสาร์ขนาดเล็กอื่นๆ ที่มีชีวิตอยู่ในช่วงตอนกลางถึงตอนปลายของยุคจูแรสซิกในประเทศจีนและรัสเซีย
กรมทรัพยากรธรณีประกาศให้พื้นที่แหล่งซากดึกดำบรรพ์ภูน้อยเป็นแหล่งซากดึกดำบรรพ์ขึ้นทะเบียนของประเทศตั้งแต่วันที่ 14 มกราคม 2563 อีกทั้งยังพบซากดึกดำบรรพ์กว่า 5,000 ชิ้นในพื้นที่ ทำให้ภูน้อยได้รับการขนานนามว่า “จูแรสซิกพาร์ค เมืองไทย” ที่มีความหลากหลายทางชีวภาพมากที่สุดและใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ คาดยังมีฟอสซิลใต้ชั้นหินกระจายอยู่ทั่ว โดยมีแผนพัฒนาพื้นที่ร่วมกับแหล่งมรดกทางธรรมชาติและทางวัฒนธรรมอื่นอันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดกาฬสินธุ์ เพื่อส่งเสริมให้เป็นอุทยานธรณีในระดับประเทศในอนาคต.-สำนักข่าวไทย