เร่งหาทางออกปมคอนโดหรู “แอชตัน อโศก”

กทม. 28 ก.ค.-หลังจากเมื่อวานนี้ ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษาให้ถอนใบแจ้งและใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดหรูย่านอโศก เจ้าของโครงการเร่งหาทางออก และมีความเห็นจากหลายฝ่าย

บรรยากาศที่หน้าคอนโดฯ หรู “แอชตัน อโศก” หลังวานนี้ ศาลปกครองสูงสุดสั่งเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างโครงการ เนื่องจากการก่อสร้างผิดเเบบที่ขออนุญาต เเละพื้นที่ทางออกของคอนโดฯ เป็นของ รฟม. ซึ่งคำสั่งศาลดังกล่าวทำให้มีลูกบ้านในคอนโดฯ ร่วม 580 ครอบครัว ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ได้รับผลกระทบ โดยบริเวณทางเข้าหน้าคอนโดฯ มีสื่อมวลจำนวนมากมาติดตามความคืบหน้าของเจ้าของโครงการ เเต่พนักงานรักษาความปลอดภัยเเละนิติบุคคลไม่อนุญาตเข้าไปภายในเขตคอนโดฯ ผู้สื่อข่าวจึงอยู่ตรงบริเวณทางเข้ารถไฟฟ้าใต้ดินสถานีสุขุมวิท เเละพยายามขอข้อมูลพูดคุยกับผู้อยู่อาศัย เเต่ส่วนใหญ่เลี่ยงที่จะตอบคำถาม หรือให้ความเห็นใดๆ


ด้านนายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. กล่าวถึงกรณีดังกล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่ได้รับการประสานติดต่อจากทางบริษัท อนันดาฯ ผู้พัฒนาโครงการ หลังบริษัทแถลงข่าวเมื่อวานนี้ว่า จะขอให้ รฟม. และ กทม. ร่วมรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้น และถึงแม้จะติดต่อมา ก็ไม่รู้ว่าจะช่วยได้อย่างไร เนื่องจากคำพิพากษาของศาลฯ ไม่ได้หมายรวมถึงการเพิกถอนใบอนุญาตให้ใช้พื้นที่ของ รฟม.เป็นทางผ่านเข้า-ออกโครงการ แต่เป็นการเพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร ที่ทางผู้พัฒนาโครงการ คือ บริษัท อนันดาฯ จะต้องไปหาทางออกร่วมกับผู้ให้ใบอนุญาต คือ กทม. ซึ่งไม่เกี่ยวกับ รฟม.แต่อย่างใด ใบอนุญาตใช้พื้นที่ผ่านทางของ รฟม.ไม่สามารถนำไปประกอบการขออนุญาตก่อสร้างโครงการได้ เพราะถนนมีความกว้างเพียง 6.40 เมตร และเป็นถนนของ รฟม. ไม่ใช่ถนนสาธารณะ จึงไม่นับเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ

นอกจากนี้ การที่บริษัทอ้างว่ามีการจ่ายเงินให้ รฟม.เป็นค่าใช้พื้นที่เป็นทางผ่านเข้า-ออกโครงการ จำนวน 97 ล้านบาทนั้น ทาง รฟม.ยังไม่ได้รับเงินจำนวนดังกล่าวแต่อย่างใด เนื่องจากโครงการมีปัญหา ส่วนจะรับเงินจำนวนนี้ได้หรือไม่ ต้องดูข้อกฎหมายอย่างละเอียดอีกครั้ง ทั้งนี้ หากทางบริษัทจะยื่นฟ้องก็เป็นสิทธิที่ทำได้ ซึ่งต้องต่อสู้กันไปตามข้อกฎหมาย โดยทาง รฟม.ยึดถือคำพิพากษาเป็นหลัก 


ส่วนคำพิพากษาของศาลครั้งนี้ จะผูกพันไปถึงอีก 13 โครงการที่มีลักษณะเดียวกันนี้หรือไม่ เบื้องต้นมองว่าคำพิพากษาจะผูกพันเฉพาะคู่ความ แต่ก็เป็นกรณีศึกษาให้ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์ต้องนำไปพิจารณาประกอบการตัดสินใจ

ขณะที่นางนฤมล เมฆบริสุทธิ์ รองผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า การสร้างอาคารผิดกฎหมายเกิดจากรัฐไม่ปฏิบัติตามหน้าที่ ไม่บังคับใช้กฎหมายตั้งแต่ต้น เมื่อศาลสั่งเพิกถอนใบอนุญาตฯ จึงก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้บริโภค เพราะฉะนั้นผู้ประกอบการต้องรับผิดชอบคืนเงินพร้อมดอกเบี้ยให้ผู้บริโภคในทุกกรณีก่อน ส่วนผู้ประกอบการจะไปเรียกร้องกับหน่วยงานที่อนุญาตก่อสร้างนั้นเป็นเรื่องคนละส่วนกัน

ส่วนนายเฉลิมพงษ์ กลับดี หัวหน้าศูนย์ทนายความเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค กล่าวว่า กรณีนี้ถือว่าผู้ประกอบการเป็นฝ่ายผิดสัญญา ผู้บริโภคซื้อห้องแล้วอยู่อาศัยไม่ได้ตลอดไปตามวัตถุประสงค์ ผู้บริโภคที่ได้รับความเดือดร้อนมีสิทธิยกเลิกสัญญา และขอให้บริษัทคืนเงินทั้งหมดพร้อมดอกเบี้ย ซึ่งมูลนิธิฯ จะช่วยเหลือในเรื่องการดำเนินคดีกับบริษัทที่เป็นเจ้าของโครงการ ผู้บริโภคสามารถร้องเรียนมาที่มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค ผ่านช่องทางการรับเรื่องร้องเรียนต่างๆ


ขณะที่นายศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ตามคำพิพากษาชี้ให้เห็นว่า เจ้าพนักงานท้องถิ่นของ กทม. ซึ่งมีหลายหน่วยงาน ทั้งเขตวัฒนา กองควบคุมอาคาร สำนักการโยธา กทม. สำนักการจราจรและขนส่ง ที่เกี่ยวข้องกับการเชื่อมต่อพื้นที่ที่ใช้เป็นทางเข้า-ออกคอนโดฯ ซึ่งขัดกับกฎหมาย ผู้ที่รับรองการเปิดใช้อาคารและพิจารณาแบบก่อสร้าง ต้องถูกเอาผิดทางวินัยและอาญา รวมถึงความผิดทางแพ่ง จึงเตรียมไปยื่นร้องเรียนต่อนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในวันที่ 4 ส.ค.นี้

สำหรับโครงการแอชตัน อโศก เป็นคอนโดมิเนียมสูง 50 ชั้น ตั้งอยู่ติดถนนสุขุมวิท ซอย 21 (ถนนอโศกมนตรี) เขตวัฒนา กรุงเทพมหานคร ใกล้สถานีรถไฟฟ้ามหานคร (MRT) สายสีน้ำเงิน สถานีสุขุมวิท เมื่อวานนี้ ศาลปกครองสูงสุดอ่านคำพิพากษาให้ถอนใบแจ้งและใบอนุญาตก่อสร้างคอนโดมิเนียมแอชตัน อโศก ทั้งหมด หลังโครงการนี้ถูกร้องเรียนว่าได้รับอนุญาตให้ก่อสร้างถูกต้องหรือไม่ เพราะพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 กำหนดว่าจะต้องมีที่ดินด้านใดด้านหนึ่งติดถนนสาธารณะไม่น้อยกว่า 12 เมตร แต่ที่ดินผืนดังกล่าวไม่มี และการอ้างว่าใช้ที่ดินของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. หรือรถไฟฟ้า MRT เป็นทางเข้าออกแทนนั้น ทำได้หรือไม่

คำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดระบุว่าที่ดินของรฟม.จะนำมาให้เอกชนทำโครงการไม่ได้ทำให้หน่วยงานของรัฐซึ่งก็คือกรุงเทพมหานครออกใบอนุญาตก่อสร้างให้ไม่ได้ด้วยโดยการออกใบอนุญาตที่เกิดขึ้นมาแล้วจึงผิดกฎหมาย

ด้านอนันดา เอ็มเอฟ อโศก บริษัทในเครือ อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ ที่ดำเนินงานโครงการคอนโดมิเนียมดังกล่าว ได้ออกแถลงการณ์หลังจากมีคำพิพากษาดังกล่าวว่า ก่อนการก่อสร้างมีการตรวจสอบประเด็นทางกฎหมายเกี่ยวกับข้อกำหนดและการขออนุญาตอย่างรัดกุมแล้ว ทั้งยังผ่านการพิจารณาและอนุมัติจากหน่วยงานของรัฐไม่ต่ำกว่า 8 หน่วยงาน จึงยืนยันว่าบริษัทดำเนินโครงการนี้อย่างสุจริต และยังระบุอีกว่า “หน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งหมดจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบในความเสียหายที่เกิดขึ้นอย่างไม่อาจปฏิเสธความรับผิดชอบได้ต่อเจ้าของร่วมอาคารชุดและบริษัทฯ”

ขณะที่นายชานนท์ เรืองกฤตยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.อนันดา ดีเวลลอปเม้นท์ กล่าวว่า บริษัทต้องการขอความเป็นธรรมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐในการเยียวยา และหาทางออกเพื่อบรรเทาผลกระทบที่เกิดขึ้นกับลูกบ้านที่อยู่อาศัยในโครงการฯ พร้อมมองว่าเหตุการณ์นี้กระทบต่อโครงการอื่นๆ ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อวงการอสังหาริมทรัพย์ในประเทศ กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนและผู้ประกอบการภาคอสังหาริมทรัพย์ ความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศ ที่ขายไปแล้ว 68 ยูนิต และทางออกของโครงการที่ตั้งอยู่บนที่ดินเวนคืนของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย มีการให้ค่าตอบแทนที่ถูกต้องแก่ รฟม.เกือบ 100 ล้านบาท ในส่วนของลูกบ้านที่เป็นเจ้าของร่วมและพักอาศัยในโครงการขณะนี้ หลังจากมีคำพิพากษาจากศาลปกคครองออกมาแล้วก็ยังสามารถพักอาศัยต่อได้ เพราะต้องมีขั้นตอนการรอเอกสารการเพิกถอนก่อสร้างอาคารจากทางราชการออกมา

ทั้งนี้ จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ทำให้บริษัทต้องมีการตั้งสำรองความเสียหายตามสัดส่วนการถือหุ้นที่บริษัทร่วมลงทุนในโครงการแอชตัน อโศก มีมูลค่าที่จะต้องตั้งสำรองฯเข้ามาในงบการเงินของบริษัทราว 250-300 ล้านบาท ซึ่งปัจจุบันโครงการแอชตัน อโศก ขายไปแล้ว 87% จากมูลค่าโครงการ 6,480 ล้านบาท.-สำนักข่าวไทย

ดูข่าวเพิ่มเติม

Top Viewed • อ่านมากสุด

ดูทั้งหมด

เชียงใหม่อากาศแปรปรวน เจอลมหนาว-ฝนตก 3 วันติด

ชาวเชียงใหม่เจอลมหนาวและฝนตกต่อเนื่อง 3 วันติด อุตุฯ ย้ำอากาศแปรปรวน เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน เชียงราย ยังมีฝนตกและลมหนาว แนะรักษาสุขภาพ

“อัจฉริยะ” ยื่นสอบปม “ทนายตั้ม” ปูดข่าวผู้บริหารปลอมเอกสารขยายอายุเกษียณ

“อัจฉริยะ” ยื่นหนังสือตรวจสอบข้าราชการช่วยผู้บริหารรัฐวิสาหกิจปลอมเอกสารขยายอายุเกษียณ คาดอาจมีทนายดังเข้าไปเอี่ยว เสนอตำรวจให้สอบพยานรายสำคัญที่เป็นประโยชน์กับ “มาดามอ้อย”

“ทนายตั้ม” เครียดหนัก หลัง 3 บิ๊ก บช.ก. สอบปากคำ

“ทนายตั้ม” เครียดหนัก หลัง 3 บิ๊กสอบสวนกลาง สอบปากคำ นานกว่า 5 ชั่วโมง ขณะที่พนักงานสอบสวนเตรียมเข้าค้น “ษิทรา ลอว์ เฟิร์ม” เช้าพรุ่งนี้ หาหลักฐานเพิ่ม ก่อนฝากขังช่วงบ่าย ค้านประกันตัว

“บิ๊กอ้อ” เผย “ทนายตั้ม-ภรรยา” มีพฤติการณ์หนี-ยุ่งเหยิงพยานฯ

“บิ๊กอ้อ” ชี้ตำรวจต้องออกหมายจับ “ทนายตั้ม” เหตุพบพฤติการณ์เตรียมหลบหนีออกนอกประเทศ และยุ่งเหยิงกับพยานหลักฐาน นอกจากนี้ยังมีคดีต่อเนื่อง 3 คดี เตรียมแจ้งข้อหาเพิ่ม

ข่าวแนะนำ

อุตุฯ เผย “เหนือ-อีสาน” อากาศเย็นตอนเช้า-ภาคใต้ฝนหนัก

กรมอุตุฯ เผย “เหนือ-อีสาน” อากาศเย็นในตอนเช้า เตือนภาคใต้ฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง พร้อมอัปเดตเส้นทางพายุ “หยินซิ่ง”

MOU44

MOU 44 ผลประโยชน์ชาติ กับ การเมือง ตอนที่ 1

ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เรื่องเอ็มโอยู 44 และเส้นแบ่งอาณาเขตทางทะเล หรือเส้นเคลม กลายเป็นปมร้อน ท่ามกลางความกังวลถึงผลประโยชน์ของชาติทางทะเล และสิทธิเหนือเกาะกูด ติดตามความเห็นและมุมมองจากผู้เกี่ยวข้องในรายงาน “ปมร้อน เอ็มโอยู 44 ผลประโยชน์ชาติ กับ การเมือง”

ทนายตั้ม

“ทนายตั้ม” สร้างตัวตนผ่านสื่อ หวังหาผลประโยชน์หรือไม่

หลังจากพนักงานสอบสวนควบคุมตัว “ทนายตั้ม” และภรรยา เข้าเรือนจำไปแล้ว มีคำถามตามมาว่า ทนายคนดังสร้างตัวตนจนโดดเด่นในสังคม เพื่อหาผลประโยชน์จากความน่าเชื่อถือที่สร้างไว้หรือไม่