สจล. 21 มิ.ย. – สภาคณบดีคณะวิศวกรรมฯ แนะร่างสัญญารถไฟไทย-จีน ต้องสร้างห้องแล็บทดสอบ ศูนย์วิจัยระบบราง เน้นแรงงานไทย วัสดุจากไทย เพื่อถ่ายทอดความรู้ เมื่อไทยต้องดูแลรถไฟด้วยตนเองทั้งระบบ
นายคมสัน มาลีสี ประธานสภาคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์แห่งประเทศไทย พร้อมด้วยตัวแทนมหาวิทยาลัย 6 แห่ง ได้ส่งหนังสือถึงสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอต่อรัฐบาลพิจารณา หลังจากออก ม.44 เร่งรัดก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ด้วยเงินลงทุนในโครงการกว่า 179,000 ล้านบาท นับเป็นเงินลงทุนสูงมาก และเห็นด้วยต่อแนวทางการเน้นวิจัยและพัฒนาของรัฐบาล ดังนั้น เมื่อทำสัญญาควรกำหนดให้ไทยมีอำนาจการต่อรองเพื่อรับประโยชน์สูงสุด ประกอบด้วย การกำหนดให้มีการถ่ายทอดความรู้เทคโนโลยี ความรู้ ให้กับบุคลากรของไทย ผ่านสถาบันการศึกษา ทั้งการตั้งศูนย์ทดสอบอุปกรณ์และเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง ให้ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยของไทย เพื่อให้เป็นแหล่งความรู้ที่ยาวนานพัฒนาได้ต่อเนื่องไปสู่คนรุ่นหลัง โดยให้สถาบันการศึกษาเป็นบุคคลที่ 3 ติดตามการทดสอบ และการสร้างรถไฟฟ้าเส้นทางอื่นเพิ่มให้กับเอกชนและนักศึกษา การแบ่งเงินทุนบางส่วนหรือประมาณร้อยละ 1-2 ของเงินลงทุนมาใช้ส่งเสริมทุนวิจัยวิจัยด้านเทคโนโลยีรถไฟความเร็วสูง
นอกจากนี้ เสนอจัดตั้งศูนย์วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีระบบขนส่งทางราง เพื่อสร้างทุนความรู้อย่างต่อเนื่อง และควรเปิดให้นักวิชาการของไทยเข้าไปมีส่วนร่วมในการติดตั้งพัฒนาทุกระบบ การกำหนดสัดส่วนการใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ผลิตภายในประเทศให้มากที่สุด ทั้งระบบรางรถไฟฟ้า ตัวรถไฟฟ้า ระบบส่งกำลังไฟฟ้า และระบบอาณัติสัญญาณ รวมทั้งกำหนดมาตรฐานความปลอดภัย ตั้งแต่งบประมาณ การออกแบบเพื่อเสริมสร้างความปลอดภัยระหว่างการก่อสร้างและหลังก่อสร้าง การใช้แรงงานไร้ฝีมือต้องในประเทศเป็นหลัก เพื่อป้องกันนำแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานมากเกินไป เมื่อไทยรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีอนาคตจะได้พัฒนาระบบรางด้วยตนเอง ยอมรับว่าแนวทางการพัฒนาระบบรางของจีนยึดหลักมาจากมหาวิทยาลัยและกระจายความรู้ออกไปยังภาคเอกชนเติบโตได้อย่างก้าวกระโดด จึงต้องการให้ถ่ายโอนความรู้ และวิธีการซ่อมบำรุงของระบบรางรถไฟฟ้า ตัวรถไฟฟ้า ระบบส่งกำลังไฟฟ้า และระบบอาณัติสัญญาณ มายังมหาวิทยาลัยเป็นหลัก เพราะเป็นแหล่งบ่มเพาะบุคลากรให้กับทุกหน่วยงาน
ขณะที่สภาวิศวกรและสภาสถาปนิกจะเร่งรัด ช่วยเหลือ สนับสนุน และอำนวยความสะดวกเรื่องระยะเวลาการยื่นคำขอรับใบอนุญาตฯ ระดับภาคีวิศวกรพิเศษและระดับภาคีสถาปนิกพิเศษ เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาและอุปสรรคของความล่าช้าในการเริ่มโครงการรถไฟความเร็วสูงดังกล่าว ทั้งนี้ โดยไม่ได้ย่อหย่อนต่อมาตรฐานการทดสอบความรู้ความชำนาญ และร่วมกันผลักดันให้เกิดความร่วมมือในโครงการดังกล่าว เพื่อให้วิศวกรและสถาปนิกไทยได้รับการถ่ายโอนเทคโนโลยีจากสาธารณะรัฐประชาชนจีนอย่างเป็นรูปธรรมและก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อการพัฒนาวิชาชีพภายในประเทศ
นอกจากนี้ จะเร่งจัดทำหลักสูตรฝึกอบรมและทดสอบวิศวกรและสถาปนิกจีนที่จะเข้ามาประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมและประกอบวิชาชีพสถาปัตยกรรมควบคุมในโครงการรถไฟความเร็วสูงช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ตามความเหมาะสม เพื่อประโยชน์ในการควบคุมคุณภาพและประสิทธิภาพของโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ สภาวิศวกรและสภาสถานิกจะประสานกับกระทรวงคมนาคม เพื่อติดตามดูแลโครงการดังกล่าวให้ได้รับประโยชน์ต่อสวัสดิภาพและความปลอดภัยของประชาชน.-สำนักข่าวไทย