มหิดล 11ก.พ.-วิศวะมหิดล เปิดตัว 3 นวัตกรรม “หุ่นยนต์แพทย์อัจฉริยะ- ถุงเคลื่อนย้ายผู้ป่วย-ระบบ AI คัดกรองข่าวปลอมรับมือไวรัสโคโรนา ลดความเสี่ยงการติดเชื้อเพิ่ม”
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย มหิดล พร้อมด้วย ดร.สุเมธ ยืนยง อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผศ.ดร.นริศ หนูหอม และ ดร. กลกรณ์ วงศ์ภาติกะเสรี ผู้ร่วมวิจัย อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมแถลงข่าวเปิดตัว 3 นวัตกรรม รับมือไวรัสโคโรนาความเสี่ยงจากโรคอุบัติใหม่ และภัยพิบัติจากสารเคมี หรือกัมมันตรังสี คือ1. หุ่นยนต์แพทย์อัจฉริยะ Doctosight สำหรับการวินิจฉัยและรักษาผ่านระบบโทรเวช 2.ถุงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในการป้องกันเชื้อโรคและสารเคมี และ 3. ระบบคัดกรองข่าวปลอมไวรัสโคโรนาโดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI System For Detecting Fake News Related to the Novel Coronavirus (2019-nCoV) ซึ่งสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 ส่งผลกระทบต่อชีวิตและสุขภาพ เศรษฐกิจและอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมหาศาล
รศ.ดร.จักรกฤษณ์ ศุทธากรณ์ คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ทีมวิจัยคณะวิศวะมหิดล มีแนวคิดในการพัฒนาหุ่นยนต์แพทย์อัจฉริยะ Doctosight สำหรับการวินิจฉัยและรักษาผ่านระบบโทรเวช (Telemedecine) เพื่อช่วยให้แพทย์และบุคลากรไม่ต้องเข้าใกล้หรือสัมผัสผู้ป่วยโดยตรง ช่วยลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ โดยจุดเด่นของหุ่นยนต์นี้สามารถทำงานร่วมกันได้มากกว่าหนึ่งตัวเพื่อตอบสนองคำสั่ง ในการตรวจสอบข้อมูลการทำงานในเชิงดิจิตัลในรูปแบบของการทำงานหุ่นยนต์ สามารถควบคุมได้ผ่านแอพพลิเคชัน ช่วยลดภาระการทำงานของแพทย์ พยาบาล เช่น วัดชีพจร วัดความดันเลือด วัดอัตราการเต้นของหัวใจ เป็นต้น ส่วนกลางของตัวหุ่นยนต์ออกแบบเป็นช่องเก็บของ ทั้งช่วยลำเลียงยาและวัสดุไปยังคนไข้ เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพที่โรงพยาบาลจะได้รับผ่านตัวหุ่นยนต์ที่ทำงานร่วมกัน ปัจจุบันมีหุนยนต์ต้นแบบ 3 ตัว ถูกนำไปทดสอบการใช้งาน ใน โรงพยาบาลมหิดล และอนาคตจะร่วมมือกับรพ.ศิริราช รพ.รามาธิบดี และกระทรวงสาธารณสุข ในการทดลองนำไปใช้งานจริง ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจสอบมาตรฐานสากล เพื่อนำไปสู่การใช้งานที่แพร่หลายและเชิงพาณิชย์ต่อไป แต่หากเกิดสถานการณ์ฉุกเฉินสามารถใช้งานจริงได้ทันที
นวัตกรรมที่ 2 คือ ถุงเคลื่อนย้ายผู้ป่วยในการป้องกันเชื้อโรคและสารเคมี ทางคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้สร้างสรรค์ขึ้น มีคุณสมบัติป้องกันไม่ให้อากาศด้านในไหลสู่ด้านนอกเพื่อเป็นการป้องกันการปนเปื้อนของสารเคมีหรือสิ่งปนเปื้อนในถุงไปสู่ภายนอกถุง แบ่งออกเป็น 2 แบบ คือ 1. ถุงเคลื่อนย้ายแบบ Negative Pressure Bag : NPB สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยติดเชื้อ ป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อสู่ผู้อื่น โดยเก็บอากาศภายในเพื่อป้องกันอากาศออก ถุง NPB จะปรับความดันอากาศต่ำกว่าภายนอกทำให้อากาศจากภายนอกไหลเข้าสู่ด้านใน ทำให้เชื้อต่างๆ จะอยู่ภายในถุงไม่แพร่กระจายออกไป โดยอากาศบริสุทธิ์จะไหลผ่านรูอากาศ และถูกดักจับด้วยฟิลเตอร์ เพื่อไม่ให้เชื้อโรคผ่านออกไปยังถุงได้ 2. ถุงแบบ Positive Pressure Bag : PPB สำหรับเคลื่อนย้ายผู้ป่วยที่ไม่มีเชื้อในพื้นที่ ซึ่งมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อ โดยถ่ายเทอากาศออกไปด้านนอก ถุง PPB ใช้ในสถานการณ์ที่สิ่งแวดล้อมรอบด้านเป็นพิษ เราจำเป็นต้องให้ผู้ป่วยอยู่ในถุงที่ปลอดภัย และปรับความดันภายในถุงให้เป็นบวก ดังนั้นอากาศภายนอกจะไม่สามารถเข้าด้านในได้ โดยอากาศภายนอกนั้นจะถูก Feed ให้กับผู้ป่วยในถุงโดยผ่านไส้กรองเพื่อให้อากาศบริสุทธิ์ ส่วนวัสดุห่อหุ้มโครงสร้างถุง เป็นวัสดุพลาสติกทางการแพทย์ ซึ่งทำหน้าที่ในการห่อหุ้มและป้องกันไม่ให้อากาศด้านในไหลออกสู่ด้านนอก นอกจากนี้ ยังมีช่องทางที่เจ้าหน้าที่สามารถเข้าถึงผู้ป่วยที่อยู่ด้านในได้ มีการทดลองใช้ในหน่วยงานของทหารอากาศ คิดค้นขึ้นมาเมื่อ2 ปีที่แล้ว สามารถใช้งานได้จริงทันที
ดร.สุเมธ ยืนยง อาจารย์ภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า นวัตกรรมสุดท้าย คือ ระบบ AI คัดกรองข่าวปลอมในเรื่องการระบาดของไวรัสโคโรนา
คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดลซึ่งมีความพร้อมด้านเทคโนโลยีและประสบการณ์เชี่ยวชาญด้านนิติวิศวกรรม (Digital Forensic Lab) จึงได้คิดค้นนวัตกรรม ระบบ AI คัดกรองข่าวปลอมในเรื่องการระบาดของไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ตรวจจับข่าวปลอม ช่วยลดระยะเวลาการตรวจสอบข่าวสารที่แชร์บนโลกออนไลน์ และเผยแพร่ข่าวสารข้อเท็จจริงที่ถูกต้อง ขณะนี้อยู่ระหว่างพัฒนาตัวชอฟแวร์ และจะออกมาในรูปแบบของแอพพลิเคชันและเว็ปไซต์ รองรับการใช้งานได้มากกว่า10,000 คน คาดว่าจะแล้วเสร็จภายใน 1 เดือน เพื่อสนับสนุนการทำงานของศูนย์ตรวจสอบข่าวกรอง ซึ่งข่าวปลอมแพร่กระจายไวกว่าไวรัส ส่งผลกระทบต่อสังคมในหลายแง่มุม ทั้งเรื่องเศรษฐกิจ สังคม.-สำนักข่าวไทย