เผยผลศึกษาวิจัยจากกิจกรรม “นักสืบสายชัวร์ x ชัวร์ก่อนแชร์สโมสร TRICK or TRUST” ครั้งแรกที่พัทยา มีวิทยากรถ่ายทอดกลยุทธ์การรู้เท่าทันสื่อ ข้อมูลเท็จ ข่าวลวง และภัยไซเบอร์ ให้กับผู้ร่วมงานวัยต่างกัน แต่กลับไม่เป็นอุปสรรคในการเรียนรู้ภัยไซเบอร์
ในกิจกรรม “นักสืบสายชัวร์ x ชัวร์ก่อนแชร์สโมสร TRICK or TRUST” ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายน 2565 ที่พัทยา จังหวัดชลบุรี ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท ได้นำเสนอนวัตกรรมสื่อและหลักสูตรใหม่เพื่อสร้างประสบการณ์การเรียนรู้เท่าทัน ผ่านมุมมองของการสร้างกลลวง โดยทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญหลากหลายสาขา รวมทั้ง นักมายากล นักคอมพิวเตอร์กราฟิก นักแอนิเมชัน
ในกิจกรรมดังกล่าว ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.เจษฎา ศาลาทอง อาจารย์คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ทำการศึกษาวิจัยทัศนคติ ความพึงพอใจ ประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้เข้าร่วมโครงการฯ โดยใช้วิธีผสมผสาน ทั้งเชิงปริมาณและเชิงคุณภาพ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อติดตามสำรวจประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้เรียน
ในบทความนี้ เป็นผลสรุปบางส่วนเกี่ยวกับ “ความพึงพอใจและประสบการณ์การเรียนรู้” ของผู้เข้าร่วมโครงการฯ สำหรับเอกสารผลการศึกษาวิจัยฉบับเต็ม จะมีการเผยแพร่และนำเสนอต่อไป
ผลเชิงปริมาณ
กลุ่มตัวอย่างที่ตอบแบบสอบถามทั้งหมด 148 คน มีทั้งนักเรียน นักศึกษา บุคลากรครู และบุคคลทั่วไป
ทุกกลุ่มเห็นด้วยกับการได้รับประสบการณ์การเรียนรู้จากการเข้าร่วมกิจกรรมช่วงเช้าและช่วงบ่าย ช่วยให้เข้าใจ รู้เท่าทัน และลดความเสี่ยงเมื่อต้องพบข้อมูลเท็จและภัยไซเบอร์ ทั้งยังช่วยให้สามารถแยกแยะและรู้เท่าทันกลลวงของมิจฉาชีพได้จริงตามที่คาดหวัง
ผลเชิงคุณภาพ
ผู้เข้าร่วมโครงการมีทัศนคติที่ดีต่อโครงการเป็นอย่างมาก ในกิจกรรมทั้งช่วงเช้าและช่วงบ่าย ทุกกลุ่มรู้สึกสนุก ตื่นตาตื่นใจ และประทับใจต่อการแสดงมายากล รวมถึงการได้รับความรู้จากการบรรยายโดยวิทยากรที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในแต่ละศาสตร์ควบคู่ไปกับความรู้สึกผ่อนคลาย ไม่เครียด สามารถอยู่ร่วมกิจกรรมจนจบได้โดยไม่เกิดความรู้สึกเบื่อ
นอกจากความหลากหลายของกลุ่มผู้เข้าร่วมโครงการแล้ว วิทยากรก็มีความหลากหลายเช่นกัน เป็นการนำวิทยากรจากหลายศาสตร์มาบรรยายร่วมกัน เสมือนเป็นการทลายกรอบข้อจำกัดต่อผู้เข้าร่วมโครงการทุกกลุ่มในมิติที่แตกต่างกัน เช่น เป็นการทลายกรอบข้อจำกัดด้านงบประมาณ ขอบเขตกลุ่มประชากร การจัดกิจกรรมของกลุ่มบุคลากรทางการศึกษา เป็นการก้าวข้ามรูปแบบการบรรยายที่สร้างความน่าเบื่อแก่กลุ่มนักเรียน และเป็นการนำเสนอมุมมองที่ท้าทายความเชื่อด้วยหลักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่กลุ่มคุณครู ผู้เข้าร่วมทั่วไป ตลอดจนผู้สูงวัย
ผู้เข้าร่วมโครงการมีความประทับใจต่อวิทยากรเป็นอย่างมาก เนื่องจากวิทยากรมีความเป็นกันเอง มีการสนทนากับผู้เข้าร่วมโครงการทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการกล้าที่จะแสดงออก และวิทยากรกลุ่มนักมายากลสร้างความตื่นตาตื่นใจต่อผู้เข้าร่วมโครงการเป็นพิเศษ
ประสบการณ์การเรียนรู้
จากการออกแบบให้กิจกรรมของโครงการมีความบูรณาการทั้งในส่วนของรูปแบบกิจกรรมการเรียนรู้และวิทยากร มีกิจกรรมที่หลากหลายและมีปฏิสัมพันธ์อย่างมาก ไม่ใช่แค่การบรรยายในลักษณะการสื่อสารทางเดียว ทำให้ผู้เข้าร่วมรู้สึกมีส่วนร่วม ไม่เบื่อ รวมถึงสถานที่จัดงานที่รองรับการจัดกิจกรรมได้ดีทั้งช่วงเช้าและบ่าย
ในส่วนของวิทยากรนั้นเป็นการรวมตัวกันของวิทยากรหลาย ๆ ศาสตร์ทำให้ผู้เข้าร่วมโครงการได้รับมุมมอง ข้อคิดเห็น ตลอดจนข้อเท็จจริงต่อเหตุการณ์นั้น ๆ หลายแง่มุม เช่น จากมุมของนักมายากล นักวิทยาศาสตร์ หรือนักวิชาการ เป็นการหนุนเสริมความรู้ซึ่งกันและกัน ทำให้เกิดความรู้และความเท่าทันที่รอบด้าน ซึ่งเป็นการเปิดประสบการณ์ใหม่
นอกจากนี้ การอบรมช่วยให้เข้าใจ รู้เท่าทัน และช่วยลดความเสี่ยงเมื่อต้องพบข้อมูลเท็จและภัยไซเบอร์ ทั้งยังช่วยให้สามารถแยกแยะและรู้เท่าทันกลลวงของมิจฉาชีพได้จริงตามที่คาดหวัง
ประสบการณ์จากกลุ่มนักเรียน
กลุ่มนักเรียนจะเป็นกลุ่มที่ตื่นตาตื่นใจกับการแสดงมายากลเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นประสบการณ์การชมการแสดงมายากลในรูปแบบการแสดงสดครั้งแรกของนักเรียนหลาย ๆ คน และยังมีความใกล้ชิดกับบริบทของมายากลมากกว่าด้านความเชื่อ สิ่งเร้นลับ และอภินิหาร
โดยภายหลังการเข้าร่วมโครงการ สิ่งที่กลุ่มนักเรียนได้รับจากโครงการนี้ คือ ความรู้ในการป้องกันภัยไซเบอร์และป้องกันภัยต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในโลกออนไลน์และในชีวิตจริง ได้รับความรู้ในการป้องกันตัวจากมิจฉาชีพ มีความกล้าที่จะพูดคุย ทักท้วง หรือสอบถามในที่มาและความถูกต้องจากข้อมูลที่บอกกล่าวหรือส่งต่อโดยคนรอบตัว
ประสบการณ์จากกลุ่มคุณครู
ด้านกลุ่มคุณครูและบุคลากรทางการศึกษา นอกเหนือกจากการได้รับประสบการณ์จากการแสดงมายากลและเนื้อหาด้านเทคโนโลยีใหม่ ๆ แล้ว ยังเป็นกลุ่มที่มองลึกลงไปในเชิงโครงสร้างเนื้อหาของโครงการเนื่องจากเป็นกลุ่มที่ต้องตัดสินใจว่าจะนำเด็กนักเรียนหรือโรงเรียนในสังกัดของตนเข้าร่วมโครงการหรือไม่ ตลอดจนเกิดการเรียนรู้ที่จะนำประสบการณ์การเข้าร่วมโครงการไปประยุกต์ใช้ในการจัดการเรียนการสอนในรั้วโรงเรียนต่อไป
ภายหลังการเข้าร่วมโครงการ สิ่งที่กลุ่มบุคลากรทางการศึกษาได้รับจากโครงการนี้คือ การรู้เท่าทันเทคโนโลยี การตระหนักในต้นตอของแหล่งข่าวและข้อมูลที่ได้รับมา ตั้งคำถามต่อข้อมูลหรือข่าวที่ตนเองเห็น อ่าน หรือรับมาก่อนจะทำการเชื่อหรือส่งต่อ ตลอดจนการตระหนักรู้ว่าภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวที่เห็นอาจไม่ใช่ภาพที่เกิดขึ้นจริงเสมอไป
ประสบการณ์จากกลุ่มคนทั่วไปและผู้สูงวัย
กลุ่มประชาชนทั่วไปและผู้สูงวัยจะเป็นกลุ่มที่ถูกท้าทายต่อเรื่องความเชื่อเหนือธรรมชาติต่าง ๆ ที่เคยพบเจอ เช่น เหตุการณ์อิทธิฤทธิ์แม่ชีลอยน้ำ หรือเหตุการณ์แมลงบินออกจากปาก ความเชื่อและเหตุการณ์เหล่านี้ต่างถูกอธิบายด้วยมุมมองของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ควบคู่ไปกับวิธีการทางมายากล
ภายหลังเข้าร่วมโครงการสิ่งที่กลุ่มประชาชนทั่วไปและผู้สูงวัยได้จากโครงการนี้คือ ความเข้าใจที่มีต่อกลลวง และตั้งข้อสงสัยต่อแหล่งข้อมูลหรือความเชื่อนั้น ๆ ตลอดจนการหาข้อยืนยันจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ เช่น ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ และนำข้อมูลดังกล่าวมาตรวจสอบข้อเท็จจริงหรืออธิบายต่อเหตุการณ์หรือข้อมูลข่าวสารที่ตนพบเจอ
ข้อแนะนำสู่การพัฒนาโครงการในอนาคต
แม้การศึกษาจะพบว่าการเข้าร่วมกิจกรรมทั้งในภาพรวม กิจกรรมช่วงเช้า และกิจกรรมช่วงบ่าย ผู้เข้าร่วมมีความพึงพอใจและได้รับประสบการณ์ในระดับดีมากทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นด้านสถานที่ อาหารและเครื่องดื่ม วิทยากร เนื้อหากิจกรรมการอบรม อย่างไรก็ตาม ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้เพิ่มเติมข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะเชิงคุณภาพซึ่งเป็นประโยชน์ต่อโครงการ เพื่อการนำไปพัฒนาและปรับปรุงสำหรับการจัดกิจกรรมในครั้งต่อไป โดยในภาพรวมเน้นย้ำ 3 ประเด็นหลัก ดังนี้
1. ควรเพิ่มและจัดสรรระยะเวลาสำหรับวิทยากรแต่ละคนให้มากขึ้น เนื่องจากปริมาณเนื้อหาที่น่าสนใจและเป็นประโยชน์มีค่อนข้างมาก แต่ระยะเวลาการนำเสนอของวิทยากรนั้นจำกัดและไม่เพียงพอ การเพิ่มระยะเวลาจึงอาจช่วยให้วิทยากรสามารถนำเสนอเนื้อหาที่เป็นประโยชน์ได้ครบถ้วนมากขึ้น หรือควรจัดสรรเวลาของวิทยากรแต่ละคนให้สมดุลกับเนื้อหา
2. ควรปรับปรุงด้านการประชาสัมพันธ์ในการเข้าร่วมการอบรม โดยเพิ่มการประชาสัมพันธ์การรับสมัครเข้าร่วมกิจกรรมโครงการให้มากกว่าเดิม เพื่อให้ผู้สนใจได้รับทราบ ถ้ามีการอบรมครั้งต่อไปอยากให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการทำกิจกรรมมากขึ้นด้วย ทั้งนี้รูปแบบการจัดงานสามารถนำมาปรับเป็นแม่แบบเพื่อนำไปจัดกิจกรรมในพื้นที่อื่น ๆ ต่อไปได้
3. สถานที่ Art In Paradise มีความเหมาะสมอย่างยิ่งในแง่ของเนื้อหาและประสบการณ์การเรียนรู้ และยังสามารถเดินทางได้สะดวก ซึ่งการจัดงานในพื้นที่อื่นอาจไม่สามารถหาสถานที่ลักษณะเดียวกันได้ นอกจากนี้ยังต้องคำนึงถึงข้อจำกัดของสถานที่เช่น การรองรับการใช้เสียง การออกแบบเส้นทางการเรียนรู้ รวมถึงการอำนวยความสะดวกกับผู้สูงวัย หรือผู้พิการ
กิจกรรมครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญของการพัฒนาและต่อยอดสร้างสรรค์นวัตกรรมเพื่อการเรียนรู้เท่าทันสำหรับประชาชน ซึ่งจะมีการขยายผลเป็นหลักสูตรที่เข้าถึงได้อย่างกว้างขวางต่อไป
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนักสืบสายชัวร์ x ชัวร์ก่อนแชร์สโมสร TRICK OR TRUST ภายใต้การสนับสนุนโดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter