วันนี้ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท จะพาไปพบกับ 5 ดาราที่ถูกมิจฉาชีพนำรูปและข้อมูลไปใช้โดยไม่ได้รับอนุญาตเพื่อหลอกลวงผู้บริโภคให้ซื้อสินค้าหรือหลอกให้ร่วมลงทุน ซึ่งทุกคนได้ออกมาเล่าผ่าน Scoop “ชัวร์ก่อนแฉ” ช่วงที่จะพาดารามาแชร์ประสบการณ์ข่าวปลอมของตนเอง เรามาดูกันว่ามีใครบ้างที่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรไซเบอร์
1. บุ๋ม ปนัดดา วงศ์ผู้ดี กับการถูกแอบอ้างชื่อและปลอมแปลงเฟซบุ๊กเพื่อหลอกให้ร่วมลงทุนและหลอกโอนเงิน
โดยมิจฉาชีพได้สร้างเฟซบุ๊กปลอม แนบเลขบัญชีของตนเองเข้าไปแทนที่เลขบัญชีของมูลนิธิ ก่อนแอบอ้างให้ร่วมลงทุนและนำเงินหนีไป
เจ้าตัวกล่าวว่าตนเองทำมูลนิธิ หากถูกนำชื่อไปใช้และเปลี่ยนแปลงเลขบัญชีให้เป็นของมิจฉาชีพก็อาจถูกหลอกได้ง่าย ๆ และตามจับตัวผู้กระทำผิดได้ยาก แต่ถือเป็นโชคดีที่ในยุคปัจจุบันดาราและศิลปินมีช่องทางโซเชียลมีเดียส่วนตัว จึงสามารถชี้แจงผ่านด้วยตนเองได้
ทั้งนี้ยังเตือนสติผู้ที่คิดจะสร้างข่าวปลอมว่าหากใครคิดจะเลียนแบบผู้อื่นเพื่อหลอกลวงเอาเงิน อาศัยข่าวปลอมของคนดังมาสร้างประโยชน์ให้ตนเอง “คุกมีจริง” และไม่สามารถอ้างว่ารู้เท่าไม่ถึงการณ์ได้ภายใต้กฎหมาย แค่เริ่มทำก็ผิดแล้ว
ในส่วนของผู้เสพข่าวเจ้าตัวได้ฝากไว้ว่าหากได้รับข่าวหรือข้อความใด ๆ ควรอ่าน คิด และกลั่นกรองให้ดีก่อนส่งต่อเสมอ
2. เกรซ กาญจน์เกล้า ด้วยเศียรเกล้า ถูกแอบอ้างชื่อเพื่อสร้างเพจเฟซบุ๊กก่อนยิง ads โฆษณาชวนเชื่อหลอกลวงแฟนคลับให้มาร่วมลงทุน
โดยคนร้ายอ้างว่าเป็นเพจของเกรซที่เปิดขึ้นเพื่อใช้ทำธุรกิจ ก่อนหลอกลวงให้แฟนคลับมาร่วมลงทุนและจะได้ผลตอบแทนตามจำนวนเงินที่ลงทุนไป ซึ่งในช่วงแรกมีผู้ได้รับผลตอบแทนจริง ทำให้เกิดการแชร์ต่อเป็นวงกว้าง ก่อนมิจฉาชีพจะเชิดเงินหนีไปเป็นมูลค่ารวมหลายล้านบาท
จนมีคนร้องเรียนไปยังดารารุ่นพี่ บุ๋ม ปนัดดา วงศ์ผู้ดี เจ้าตัวจึงได้ทราบเรื่องและแจ้งปิดเพจดังกล่าว รวมถึงเร่งดำเนินคดีทันที
อีกทั้งยังเตือนใจว่าทุกวันนี้เทคโนโลยีก้าวล้ำไปไกล และมีการทำธุรกรรมทางการเงินบนออนไลน์มากขึ้นในชีวิตประจำวัน ดังนั้น จึงอยากให้ทุกคนมีสติ รอบคอบ เช็กให้ชัวร์ก่อนว่าสิ่งนั้นมีจริงและมีต้นตออย่างไรเพื่อใช้เป็นหลักฐานก่อนปักใจเชื่อ
3. แพท ณปภา ตันตระกูล เคยแจ้งความเอาผิดเพจเฟซบุ๊กที่นำรูปของตนเองและลูกชายไปใช้โฆษณาสินค้าโดยไม่ได้รับอนุญาต
โดยเพจร้านค้านั้นได้ขายสินค้าเลียนแบบของเจ้าตัวแต่กลับลดราคาลงถึงครึ่งหนึ่งของราคาจริง อีกทั้งยังนำรูปของตนเองและลูกชายไปใช้ในการโฆษณาโดยไม่ได้รับอนุญาต นับเป็นการหลอกลวงผู้บริโภคอย่างเห็นได้ชัด แต่เมื่อแจ้งความดำเนินคดีเจ้าของกลับปิดเพจหนีหายวับไปกับตา
เจ้าตัวจึงได้ออกมาเตือนว่าปัจจุบันโซเชียลมีเดียนั้นรวดเร็วมาก จึงอยากให้รู้ว่าก่อนแชร์อะไรออกไปต้องเช็กให้ดีก่อน รวมไปถึงคำพูดที่ใช้ในโซเชียลด้วย ส่วนผู้ที่กระทำผิดจะต้องได้รับผลของการกระทำนั้น
4. อั๋น ภูวนาท คุนผลิน เคยถูกมิจฉาชีพสร้างเพจเฟซบุ๊กปลอมและนำรูปของตนเองกับครอบครัวไปใช้ในการโฆษณาประกัน
โดยเจ้าตัวได้พบว่ามีเพจหนึ่งนำรูปของตนเองและครอบครัว ทั้งภรรยาและลูกน้อยไปตัดต่อใช้บนรูปภาพโฆษณาหลอกขายประกันราวกับว่าเป็นพรีเซ็นเตอร์
เจ้าตัวจึงนำรูปนั้นมาโพสต์บนโซเชียลมีเดียของตนเองเพื่อชี้แจงว่าเป็นเพจปลอม เพื่อป้องกันตนเองและคนรอบข้าง แต่เมื่อกลับเข้าไปดูก็พบว่าเพจนั้นได้หายไปแล้ว โดยไม่ทราบว่าถูกบล็อกหรือเจ้าของปิดเพจหนีไป
จึงใช้โอกาสนี้ออกมาเตือนแก่ผู้เสพข่าวว่า “ต้องเอ๊ะให้บ่อย ตั้งคำถามที่สร้างสรรค์บ่อย ๆ” หากสารนั้นมีที่มาไม่ชัดเจนจะต้องสงสัยเสมอเพื่อนำไปสู่การพิสูจน์ว่าสารนั้นเป็นความจริงหรือไม่ มีสติอยู่เสมอ ลดความเสี่ยงในการเป็นส่วนหนึ่งของการส่งต่อข่าวปลอมให้น้อยที่สุด อย่าคิดเพียงว่าหากแชร์ต่อช้าจะไม่ทันข่าวสาร ดูไม่เท่ เพราะถ้าเราพลาดขึ้นมามันไม่เท่อยู่แล้ว
5. ปราง กัญญ์ณรัณ วงศ์ขจรไกล ถูกนำรูปไปใช้ในทางมิชอบโดยไม่ได้รับอนุญาต
โดยเจ้าตัวพบว่ารูปของตนเองนั้นไปปรากฏอยู่บนใบปลิวเชิญชวนให้ใช้บริการทางเพศในประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งตรงกับช่วงที่มีการฉายละครที่เจ้าตัวร่วมแสดงในประเทศเกาหลีใต้พอดี ส่งผลให้ผู้คนเกิดความเข้าใจผิด สร้างความเดือดร้อนและผลกระทบต่อจิตใจเป็นอย่างมาก
เจ้าตัวกล่าวว่าหากปล่อยผ่านอาจจะได้รับผลกระทบหนักกว่านี้ แต่โชคดีที่แฟนคลับไทยที่อาศัยอยู่ที่ประเทศเกาหลีใต้แจ้งให้ทราบและช่วยติดต่อดำเนินคดี สุดท้ายทางร้านก็ได้รับทราบและเลิกใช้ใบปลิวนั้นไป อีกทั้งเจ้าตัวยังเตือนว่าจะทำอะไรให้คิดก่อนทำและตั้งอยู่บนความถูกต้องตามกฎหมาย
จากการถูกแอบอ้างใช้ข้อมูลส่วนตัวของดาราศิลปินหลายท่านทำให้เราได้บทเรียนเกี่ยวกับการดำเนินชีวิต เนื่องจากปัจจุบันเทคโนโลยีพัฒนาไปรวดเร็ว ส่งผลให้เราเข้าถึงข่าวสารได้อย่างหลากหลาย
ดังนั้น จึงต้องมีสติในการเสพข่าว สงสัยอยู่เสมอ กลั่นกรองข้อเท็จจริงและที่มาอย่างถี่ถ้วน เพื่อป้องกันการโดนหลอกจากมิจฉาชีพหรือผู้ไม่ประสงค์ดี อีกทั้งยังเป็นการช่วยลดความเสี่ยงในการเป็นส่วนหนึ่งของการส่งต่อข่าวปลอมที่สร้างความเดือดร้อนต่อผู้อื่นในทุกด้าน แม้ว่าเราจะไม่ใช่ผู้ที่สร้างข่าวนั้นขึ้นมาก็ตาม
ทั้งนี้ ยังต้องคิดเสมอว่าเราไม่ต้องรวดเร็วแข่งกับโลกโซเชียล ไม่ต้องกลัวว่าจะไม่ทันกระแส “ช้าแต่ชัวร์” ดีกว่าพลาดไปแล้วแก้ไขไม่ได้
บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการนักสืบสายชัวร์ x ชัวร์ก่อนแชร์สโมสร TRICK or TRUST ภายใต้การสนับสนุนโดย กองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์
หากได้รับอะไรมา อย่าเพิ่งแชร์ต่อ ส่งมาตรวจสอบกับ “ศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์”
LINE :: @SureAndShare หรือคลิก http://line.sure.guru
FB :: https://www.facebook.com/SureAndShare
YouTube :: https://www.youtube.com/@SureAndShare
Twitter :: https://www.twitter.com/SureAndShare
IG :: https://instagram.com/SureAndShare
Website :: http://www.ชัวร์ก่อนแชร์.com
TikTok :: https://www.tiktok.com/@sureandshare
สมัครรับฟรี ชัวร์ก่อนแชร์ Newsletter ส่งถึงกล่องอีเมลของคุณทุกสัปดาห์ :: https://i.sure.guru/sureandshareNewsletter