สมุทรสาคร 30 พ.ย.- กู้ครบแล้ว! 6 ร่างผู้เสียชีวิตเหตุคานก่อสร้าง ถนนพระราม 2 พังถล่ม แนะหลีกเลี่ยงเส้นทางถนนพระราม 2 ขาออก ทุกช่องทาง
ความคืบเหน้า เหตุคานเหล็กก่อสร้างทางยกระดับ ถนนพระราม 2 พังถล่มเมื่อช่วงเช้ามืดวานนี้ ทำให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายราย โดยเมื่อคืนที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่แขวงการทางสมุทรสาคร และกรมป้องกันบรรเทาสาธารณภัย พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่หลายภาคส่วน ร่วมกันค้นหาร่างผู้สูญหาย ซึ่งคาดว่าเสียชีวิต อยู่ในซากของชิ้นส่วนคานสะพาน
นายพรพิสุทธิ์ บุญศิริ ผู้ช่วยหัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสมุทรสาคร บอกว่าพบร่างผู้เสียชีวิต ซึ่งสูญหายรายสุดท้ายแล้ว ชื่อนายเพียว โกโก อายุ 18 ปี สัญชาติเมียนมา เจ้าหน้าที่ได้นำส่งโรงพยาบาลสมุทรสาคร เมื่อเวลา 06.15 น. ที่ผ่านมา
สรุปภาพรวม จำนวนผู้เสียชีวิต มี 6 ราย เป็นคนไทย 2 ราย และเมียนมา 4 ราย ส่วนผู้บาดเจ็บมี 9 ราย เป็นคนไทย 4 ราย และเมียนมา 5 รายในจำนวนนี้ ออกโรงพยาบาลแล้ว 3 คน คงเหลือรักษาตัวอยู่ 6 คน
ล่าสุด เมื่อเวลา 09.00 น. ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และผู้แทนจากบริษัทรับเหมาก่อสร้าง ลงพื้นที่ตรวจสอบเหตุดังกล่าวอีกครั้ง เพื่อวางแนวทางการ จัดการจราจรและการคืนพื้นผิวจราจร เบื้องต้นพบว่าช่วงขาออกกรุงเทพ ยังไม่สามารถเคลียร์ซากอุปกรณ์ที่พังลงมาออกจากพื้นที่ได้ เจ้าหน้าที่แนะประชาชนใช้ทางเบี่ยงเอกชัย ก่อนตัดเข้าถนนพระราม 2 อีกครั้ง ส่วนขาเข้ากรุงเทพฯ ตั้งแต่ กม.21+600 ใช้ช่องทางคู่ขนานได้ 1 ช่องทาง จึงทำให้สภาพการจราจรยังคงติดขัดเหมือนเดิม ดังนั้นจึงมีการปรับแผนการจราจรเพื่อหาเส้นทางเบี่ยงเพิ่ม และที่สำคัญ ในระยะเร่งด่วนนี้ คือ การประชาสัมพันธ์ให้ทุกคนได้รับทราบถึงการหลีกเลี่ยงเส้นทางการจราจรบนถนนพระราม 2 ที่จะต้องผ่านจุดเกิดเหตุ อีกทั้งยังต้องมีการจัดกำลังตำรวจให้เพียงพอต่อการปฏิบัติงานในการอำนวยความสะดวกทางการจราจร
เร่งเครื่องย้ายเครนก่อสร้างที่เสียหาย ออกจากที่เกิดเหตุ
ส่วนเรื่องการนำวัสดุเกิดเหตุออกจากพื้นผิวจราจร เพื่อเปิดช่องทางให้รถวิ่งผ่านได้นั้น เบื้องต้นวิศวกรบริษัทฯ บอกว่า จะเริ่มจากฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ ก่อน โดยการนำเครนก่อสร้าง ที่อยู่ฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ ซึ่งแม้จะยังคงอยู่ในสภาพที่เห็นว่าเป็นปกติ แต่ก็ได้รับผลกระทบจากเครนฝั่งที่ล้มลง ดังนั้นจึงต้องออกเป็นอันดับแรก โดยรอรถยกหนัก 500 ตัน เข้ามาหน้างานในวันจันทร์นี้ จากนั้นก็จะเข้าสู่การปฏิบัติงานยกเครนก่อสร้าง ด้านบนออก โดยต้องทำให้แล้วเสร็จใน 7 วัน ซึ่งเมื่อนำออกไปแล้ว ก็จะเปิดการจราจรในช่องทางด่วน (ช่องปกติ) ถนนพระราม 2 ฝั่งขาเข้ากรุงเทพฯ ได้เป็นปกติ ส่วนทางฝั่งขาออกกรุงเทพฯ การเคลื่อนย้ายวัสดุที่หักถล่มลงมา ต้องใช้เวลานาน ตามระยะเวลาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ให้ข้อมูลไว้ แต่ทั้งนี้ก็เร่งดำเนินการให้เร็วกว่า 15 วัน เพื่อให้การจราจรทั้งสองฝั่งกลับมาเป็นปกติได้โดยเร็วที่สุด