กรุงเทพฯ 30 พ.ย. – กรมอุทยานแห่งชาติฯ ส่งลีเมอร์หางวงแหวน 16 ตัว คืนสู่มาดากัสการ์แล้ว เป็นของกลางชุดแรกที่ส่งคืนกลับถิ่นกำเนิด โดยมีแผนขนส่งอีก 2 ครั้ง จนครบ 961 ตัว เป็นสิ่งยืนยันถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการร่วมมือกับนานาชาติเพื่อต่อต้านการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย รวมทั้งความตั้งใจในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของโลก
นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชกล่าวว่า เมื่อเวลา 02.45 น. เจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติฯ ร่วมกันเคลื่อนย้ายลีเมอร์หางวงแหวน 16 ตัว ไปถึงท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) เจ้าของคดีเป็นผู้นำขบวนขนส่งและกองคุ้มครองพันธุ์สัตว์ป่าและพืชป่าตามสัญญาเป็นผู้ดำเนินการส่งออก
ก่อนหน้านี้นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และพ.ต.อ.ยุทธนา แพรดำ อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษเป็นผู้ส่งมอบ โดยมี Mr. Max Andonirina Fontaine รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืน สาธารณรัฐมาดากัสการ์เป็นผู้รับมอบ
สัตว์ป่าของกลางชุดนี้ประกอบด้วยสัตว์หายากที่เป็นสัญลักษณ์ของมาดากัสการ์ได้แก่ ลีเมอร์หางวงแหวน (Ring-tailed Lemur) 16 ตัว ลีเมอร์สีน้ำตาล (Brown Lemur) 31 ตัว เต่าแมงมุม (Spider Tortoise) 759 ตัว และเต่าลายรัศมี (Radiated Tortoise) 155 ตัว ซึ่งทั้งหมดเป็นสัตว์เฉพาะถิ่น (Endemic species) ที่พบได้เฉพาะในมาดากัสการ์เท่านั้น มีสถานะใกล้สูญพันธุ์ และจัดอยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ของอนุสัญญา CITES ซึ่งเป็นบัญชีควบคุมการค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศที่เข้มงวดที่สุด
การส่งกลับล่าช้ากว่ากำหนดการเดิม 3 วันเนื่องจากต้องปรับปรุงกล่องบรรจุให้ได้มาตรฐานการขนส่งสัตว์ป่ามีชีวิตระหว่างประเทศเพื่อให้สัตว์มีสวัสดิภาพที่ดีตลอดการเดินทางซึ่งใช้ระยะเวลานาน
แผนการขนส่งชุดถัดไป จะเป็นการขนส่งลีเมอร์สีน้ำตาล 31 ตัวและเต่าลายรัศมี 155 ตัว ส่วนชุดที่ 3 เป็นการขนส่งเต่าแมงมุม 759 ตัว
สัตว์ป่าของกลางทั้งหมดสัตว์หายากและเป็นสัตว์เฉพาะถิ่น (Endemic species) ที่พบได้เฉพาะในมาดากัสการ์เท่านั้น มีสถานะใกล้สูญพันธุ์ และจัดอยู่ในบัญชีหมายเลข 1 ของอนุสัญญา CITES ซึ่งเป็นบัญชีควบคุมการค้าสัตว์ป่าระหว่างประเทศที่เข้มงวดที่สุด
อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติฯ กล่าวว่า สัตว์ของกลางทั้งหมดจะได้รับการดูแลอย่างดีระหว่างการขนส่งจนกระทั่งถึงมาดากัสการ์เพื่อให้สามารถกลับคืนสู่ธรรมชาติได้อย่างปลอดภัยต่อไป
การส่งสัตว์ป่าของกลางคืนถิ่นกำเนิดเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทยในการร่วมมือกับนานาชาติเพื่อต่อต้านการลักลอบค้าสัตว์ป่าผิดกฎหมาย รวมทั้งความตั้งใจในการอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของโลก .512-สำนักข่าวไทย