26 มิ.ย. – “เป็นกองทุนหมุนเวียนที่เป็นความหวัง และแหล่งพึ่งพิงสำคัญของเกษตรกรและผู้ยากจนที่มีโอกาสสูญเสียที่ดินทำกินหรือที่อยู่อาศัย และมีการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ”
สภาพความเป็นจริงในปัจจุบัน หนึ่งในสาเหตุที่ที่ดินจะหลุดจากมือเกษตรกรไปเป็นของคนอื่น นอกจากการจำหน่ายก็คือ การถูกยึดจากเจ้าหนี้ ไม่ว่าจะเป็นหนี้นอกระบบ หรือหนี้สถาบันการเงิน ที่เกษตรกรนำที่ดินไปจำนอง หรือขายฝาก หรือให้เจ้าหนี้ยึดไว้เป็นประกัน ตามสัญญากู้ยืม เพื่อนำเงินไปลงทุนประกอบอาชีพ รวมถึงใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน แต่ไม่สามารถนำเงินไปชำระหนี้ได้ตามกำหนด จึงมักจะสูญเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินของตนเองไปอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ปัญหาเหล่านี้เกิดขึ้นมาอย่างยาวนานในสังคมไทย
ดังนั้น หากจะบอกว่า กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมเกษตรกรและผู้ยากจน (อบก.) เป็นกองทุนหมุนเวียนที่เป็นความหวังและแหล่งพึ่งพิงสำคัญของเกษตรกรและผู้ยากจนที่มีโอกาสสูญเสียที่ดินทำกินหรือที่อยู่อาศัย ก็คงจะไม่ใช่การกล่าวที่เกินจริง เพราะกว่า 32 ปีที่ผ่านมา กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมเกษตรกรและผู้ยากจน ได้อนุมัติเบิกจ่ายเงินกู้ให้แก่เกษตรกรและผู้ยากจนทั่วประเทศ รวมเป็นเงินกว่า 8.8 ล้านล้านบาท มีจำนวนที่ดินที่ช่วยเหลือไม่ให้ถูกเจ้าหนี้ยึดรวมกว่า 316,456 ไร่
ทำความรู้จักกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมเกษตรกรและผู้ยากจน (อบก.)
ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน พ.ศ.2546 ให้จัดตั้งกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจนขึ้น ในสำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยรวมเงินทุนหมุนเวียนช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน กองทุนหมุนเวียนเพื่อปลดเปลื้องหนี้สินเดิมของเกษตรกรที่ยากจน และกองทุนหมุนเวียนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนด้านหนี้สินและที่ดินเข้าไว้ด้วยกัน
โดยมีวัตถุประสงค์หลัก 2 ข้อ คือ
1.ให้กู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน ในกรณีดังต่อไปนี้
1.1 เพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินของตนเองและปรับปรุงคุณภาพที่ดิน ทั้งนี้ต้องเป็นปัญหาเฉพาะหน้าที่คณะกรรมการเห็นว่ามีความจำเป็นเร่งด่วน
1.2 เพื่อเป็นทุนในการประกอบอาชีพของผู้กู้ยืมให้มีรายได้สูงขึ้น
1.3 เพื่อไถ่ หรือ ไถ่ถอนที่ดินคืนจากการขายฝาก หรือจำนอง เมื่อมีพฤติการณ์ว่าสิทธิหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นจะหลุดเป็นของเจ้าหนี้หรือบุคคลอื่นในที่สุด
1.4 เพื่อชำระหนี้ตามสัญญากู้ยืมเงิน ซึ่งผู้กู้ยืมได้นำที่ดินหรือหนังสือแสดงสิทธิในที่ดินให้เจ้าหนี้ยึดถือไว้เป็นประกันก่อนหรือขณะทำสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อมีพฤติการณ์ว่าสิทธิหรือกรรมสิทธิ์ในที่ดินนั้นจะหลุดเป็นของเจ้าหนี้หรือบุคคลอื่นในที่สุด
1.5 เพื่อซื้อคืนที่ดินที่ได้สูญเสียสิทธิหรือกรรมสิทธิ์ไปเนื่องจากการขายฝาก จำนองหรือการกู้ยืมเงิน
1.6 เพื่อซื้อที่ดินตามสิทธิแห่งกฎหมายว่าด้วยการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม
2.ให้ความช่วยเหลือเป็นค่าใช้จ่ายแก่เกษตรกรและผู้ยากจนกรณีข้อพิพาทเรื่องกรรมสิทธิ์หรือสิทธิ์การเช่าที่ดิน และค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ในการดำเนินคดี
โดยกลุ่มเป้าหมายของกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน (อบก.) คือ เกษตรกร และผู้ยากจน ซึ่งตามระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจน พ.ศ. 2528 คำว่า “เกษตรกร” หมายถึง ผู้ประกอบอาชีพ ทำนา ทำสวนทำไร่ ทำนาเกลือ เลี้ยงสัตว์หรืออาชีพเกษตรกรรมอื่นตามที่คณะกรรมการช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนกำหนด (อชก.) ส่วนคำว่า “ผู้ยากจน” หมายถึง ผู้ที่ไม่มีทรัพย์สินเพียงพอและอยู่ในสภาวะที่ไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ หรือเป็นผู้มีรายได้สุทธิไม่เกินปีละ 87,000 บาท และเป็นผู้ที่ไม่มีที่ดินสำหรับทำกิน หรือ อยู่อาศัย หรือ มีแต่ไม่เพียงพอ หรือ เป็นผู้ไม่มีทรัพย์สินอื่นใดเพียงพอแก่การชำระหนี้
ในการดำเนินงานให้ความช่วยเหลือเกษตรกรและผู้ยากจนเกี่ยวกับหนี้สินและที่ดินทำกิน มีการดำเนินงานในรูปของคณะอนุกรรมการบริหารกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน (อบก.) ส่วนกลาง กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมเกษตรกรและผู้ยากจน (อบก.)ส่วนจังหวัด และกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมเกษตรกรและผู้ยากจน (อบก.) ส่วนอำเภอ ซึ่งมีอำนาจอนุมัติคำขอกู้เงินกองทุนในวงเงิน ดังนี้
1.กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมเกษตรกรและผู้ยากจน (อบก.) ส่วนกลาง มีอำนาจอนุมัติคำขอกู้เงินกองทุนในวงเงิน ไม่เกิน 2,500,000 บาท สำหรับผู้มีภูมิลำเนาในกรุงเทพมหานคร ทุกวงเงิน
2.กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมเกษตรกรและผู้ยากจน (อบก.) ส่วนจังหวัด มีอำนาจ อนุมัติคำขอกู้เงินกองทุนในวงเงิน ตั้งแต่ 300,000 – 2,500,000 บาท
3.กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมเกษตรกรและผู้ยากจน (อบก.) ส่วนอำเภอ มีอำนาจอนุมัติคำขอกู้เงินกองทุนในวงเงิน ไม่เกิน 300,000 บาท
ส่วนการให้ความช่วยเหลือแบ่งออกเป็น 3 กรณี ได้แก่
กรณีที่ 1 การขอกู้ยืมเงิน เพื่อปลดเปลื้องหนี้สิน หรือ ซื้อที่ดินคืน
กรณีที่ 2 การขอกู้ยืมเงิน เพื่อซื้อที่นาเช่า
กรณีที่ 3 การขอกู้ยืมเงินเพื่อการประกอบอาชีพ
ผลงานที่สำคัญของกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน (อบก.)
ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2534 ถึงวันที่ 30 เมษายน 2566 กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน (อบก.) ได้อนุมัติเบิกจ่ายเงินกู้กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจนทั่วประเทศ รวมทั้งหมด 36,097 ราย รวมเป็นจำนวนเงินกว่า 8,826 ล้านล้านบาท และเป็นจำนวนที่ดิน 316,456 ไร่ 2 งาน 29.9 ตารางวา
โดยจำแนกตามรายภาคได้ดังภาพ
ขณะที่ยอดเงินกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน คงเหลือ ณ วันที่ 30 เมษายน 2566 อยู่ที่กว่า 189 ล้านล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมา พบว่าลูกหนี้กองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน (อบก.) บางส่วนมีปัญหาในการชำระหนี้ ทางกองทุนฯ ก็ได้ช่วยเหลือด้วยการอนุมัติให้ประนอมหนี้ รวมถึงการปรับโครงสร้างหนี้ ตามความเหมาะสม
ทั้งนี้ก็เพื่อสงวนรักษาที่ดินเพื่อการทำกิน หรือเพื่อการอยู่อาศัยไว้ให้แก่เกษตรกรและผู้ยากจน โดยมิให้ตกไปเป็นของบุคคลอื่น และฟื้นฟูเสริมสร้างความเข้มแข็งในอาชีพ รวมถึงการสนับสนุนให้เกษตรกรมีที่ดินทำกินของตนเองและปรับปรุงคุณภาพที่ดินที่เป็นปัญหาเฉพาะหน้า
ซึ่งหากใครกำลังประสบปัญหา และต้องการความช่วยเหลือในลักษณะดังกล่าว สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ที่ สำนักงานอัยการคุ้มครองสิทธิฯ และสำนักงานเกษตรอำเภอใกล้บ้าน หรือติดต่อส่วนกลางที่สำนักงานกองทุนหมุนเวียนเพื่อการกู้ยืมแก่เกษตรกรและผู้ยากจน สำนักบริหารกองทุนเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรและรับเรื่องร้องเรียน สำนักงานปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หมายเลขโทรศัพท์ 02-280-7750 หรือ 02-280-7753 .